เป็นหน่วยงานฝ่ายสังคมหน่วยงานแรกของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยได้ทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกงานพัฒนาในวงการคาทอลิกเสมอมา และพัฒนาแตกแขนงออกเป็นหน่วยงานพัฒนาสังคมอื่นๆ ในฝ่ายกรรมาธิการฝ่ายสังคม
สภาคาทอลิกฯ ประกอบด้วยองค์การสมาชิกทั้งหมด 35 องค์การ คือ ศูนย์สังคมพัฒนาสังฆมณฑล 10 แห่ง และองค์การคาทอลิกที่ทำงานด้านการศึกษา การสงเคราะห์และพัฒนาคณะนักบวชต่างๆ อีก 25 องค์การ โดยมีสำนักเลขาธิการเป็นทั้งหน่วยงานระดับชาติ และเป็นสำนักงานติดต่อประสานงานขององค์การสมาชิกทั้ง 35 องค์การ ซึ่งจะมีคณะกรรมการบริหารชุดหนึ่ง ประกอบด้วยตัวแทนจากองค์การสมาชิกและผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภายในและภายนอกพระศาสนจักรที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมตัวแทนองค์การสมาชิก รับผิดชอบด้านนโยบายและการดำเนินงานทั้งหมด
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2510-2513 กล่าวได้ว่าเราไม่อาจแยก “ศูนย์กลางเทวา” ออกจากคณะกรรมการสังคมสงเคราะห์ไปได้ ทั้งนี้เพราะใช้ที่ทำการของ “ศูนย์กลางเทวา” เป็นสำนักงานชั่วคราว รวมทั้งใช้พนักงานและโครงการเครดิตยูเนี่ยนเป็นหลัก
ต่อมา “วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2513 คณะกรรมการสังคมสงเคราะห์ได้มีการประชุมกัน และมีมติให้จัดระบบในคณะกรรมการเสียใหม่ โดยให้เปลี่ยนชื่อจากคณะกรรมการสังคมสงเคราะห์มาเป็น “สภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการ
พัฒนา” และได้เชิญองค์การสมาคมและบุคคลต่างๆ ที่ทำงานด้านสงเคราะห์ และพัฒนาในประเทศไทย เข้ามาเป็นสมาชิกร่วมกัน” ในเทศกาลมหาพรต ปี พ.ศ.2515 คณะกรรมการบริหารของสภาคาทอลิก ฯ ตกลงให้จัด “การรณรงค์เพื่อสงเคราะห์และพัฒนา” ซึ่งในปีเดียวกันนี้เองสภาคาทอลิกฯ ก็ได้เข้าเป็นสมาชิก “ขององค์การคารีตัส อินแตร์นาซีโอนาลิส ที่กรุงโรม และองค์การซิดเซ่ ที่กรุงบรัสเซล” และในเดือนกุมภาพันธ์ของปีต่อมา คือปี พ.ศ.2516 สภาคาทอลิกฯ “ก็ได้จัดให้มีการประชุมใหญ่เป็นครั้งแรก เพื่อรับรองธรรมนูญชั่วคราว พร้อมทั้งวางนโยบายและโครงการรีบด่วนของสภาฯ ด้วยที่ประชุมพร้อมใจกันยึดถือ “การปลุกความสำนึกเรื่องการพัฒนาสังคมและการเศรษฐกิจ”
เป็นนโยบายและโครงการรีบด่วน คือ การอบรมให้การศึกษาในเรื่องการพัฒนา ตามแนวคำสอนของพระวรสาร”
ในระยะ 10 ปีแรก คือตั้งแต่ปี พ.ศ.2516-2525 นโยบายหลักของสภาคาทอลิกฯ คือ “การปลุกจิตสำนึก” โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือในช่วง 5 ปีแรก สภาคาทอลิกฯ พยายามสนับสนุนให้มีการ “จัดตั้ง “ศูนย์สังคมพัฒนาสังฆมณฑล” ขึ้น 10 แห่ง ตามโครงสร้างของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย ซึ่งแบ่งการปกครองออกเป็น 10 เขตสังฆมณฑล กระจายอยู่ทั่วประเทศในระยะ 5 ปีหลังในขณะที่ยังคงยึดนโยบาย “การปลุกจิตสำนึก” สภาคาทอลิกก็มุ่ง “การส่งเสริมและการประสานงานที่มีประสิทธิภาพ” พร้อมกับ “การจัดฝึกอบรมผู้นำชาวบ้าน การสัมมนาผู้นำทางศาสนา พระสงฆ์และนักบวช… เพื่อสนับสนุนให้ศูนย์สังคมพัฒนา สังฆมณฑลต่างๆ เข้มแข็งขึ้น เป็นตัวของตัวเองมาก
ขึ้นในการทำงานพัฒนา” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2526-2529 สภาคาทอลิกฯ ได้พัฒนาตัวเองทางด้านโครงสร้างการทำงาน คือมุ่งเน้นนโยบาย “การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น” และวางแผนโครงสร้างการทำงานในระยะอีก 5 ปีข้างหน้าคือนโยบาย “การช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน” ซึ่งนโยบายทั้งสามนี้ยังคงดำเนินการอยู่ควบคู่กันไปอย่างเป็นกระบวนการเดียวกัน
กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่าสภาคาทอลิกฯ เห็นเรื่อง “การปลุกจิตสำนึก” เป็น เรื่องสำคัญ โดยสืบต่อแนวความคิดดังกล่าวจาก “ศูนย์กลางเทวา” ทั้งนี้เพราะงานพัฒนาในแนวทางใหม่นี้แตกต่างกันอย่างมากจากที่บาทหลวง นักบวชเคยทำมาหรือเคยมีบทบาทมาก่อนในอดีต แนวทางดังกล่าวนี้คือการกระตุ้นสนับสนุนและให้สังฆมณฑล และผู้นำชุมชนเป็นผู้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Change agent) ในชุมชนของตน โดยจะเห็นได้จากนโยบายที่พยายามฝึกอบรมผู้นำและพยายามให้ประชาชนในชุมชนเป็นผู้ริเริ่มและ เป็นเจ้าของโครงการเอง ซึ่งจะหมายถึงการเกิดองค์การพัฒนาท้องถิ่นขึ้นอีกมากมาย ร่วมกันทำงานในฐานะเท่าเทียมกันและมีความสัมพันธ์ในเชิง “เกื้อกูลกัน” มากกว่าจะ เป็นฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ให้ และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้รับ หรือฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ประเมินความก้าวหน้าของการพัฒนากับอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ถูกกำหนดด้วยนโยบายด้านโครงสร้างการทำงาน แบบนี้จะทำให้การพัฒนาสังคมเป็นไปอย่างเสมอภาค ด้วยศักยภาพของประชาชน เพื่อประโยชน์ของประชาชนเอง การเกื้อกูลช่วยเหลือกันและกันนี้เป็นกระบวนการพัฒนาที่เคลื่อนตัวที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์สังคมเป็นกฎของการอยู่รอดในสังคมที่ทุกคนจะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เหล่านี้เป็นสิ่งที่สภาคาทอลิกฯ ได้เรียนรู้จากประสบการณ์และ การเสวนาจากหลายฝ่าย