ประวัติการก่อตั้งงานด้านสังคม
บรรดามุขนายกคาทอลิกได้ตอบสนองนโยบายใหม่ของสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ในกลางปี พ.ศ.2510 (ค.ศ.1967) สภามุขนายกคาทอลิก(สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย)ได้อนุมัติให้จัดตั้งคณะกรรมการสนับสนุนกิจการสังคมสงเคราะห์ ซึ่ง ฯพณฯ คราเรนส์ ดูฮาร์ตได้รับเลือกเป็นประธาน (คณะกรรมการดังกล่าวนี้ต่อมาเป็นสภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา) ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการทำงานพัฒนาในรูปขององค์การภายใต้การดูแลรับผิดชอบของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามการทำงานพัฒนาสังคมในรูปของการสังคมสงเคราะห์
มิใช่เป็นเรื่องใหม่ต่อพระศาสนจักรแต่ประการใด โดยจะเห็นได้จากการให้การรักษาพยาบาล ให้การศึกษาและสถานเลี้ยงคนชราของมิชชันนารีในยุคต้นๆ จนกล่าวได้ว่า เราไม่สามารถแยกงานเมตตาจิตออกจากงานแพร่ธรรมไปได้ และดังที่ได้กล่าวแล้ว ว่าในคริสตศตวรรษที่ 20 เป็นศตวรรษที่ยุโรปมีการรวมตัวของผู้ที่มีความสนใจเดียวกันในรูปสมาคมเพื่อช่วยเหลือกันเองในกลุ่มของตน ซึ่งพระศาสนจักรเองก็ให้การสนับสนุนต่อแนวทางดังกล่าวนี้อย่างเต็มที่ แนวความคิดนี้ได้แพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยใน เวลาต่อมา ได้มีการทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ในรูปขององค์การขึ้นในประเทศไทยก่อนที่
สภามุขนายกคาทอลิกแห่งประเทศไทยจะตกลงทำงานด้านนี้เสียอีก แม้ว่าเป็นความสนใจส่วนบุคคลของบาทหลวงท่านใดท่านหนึ่งก็ตาม จึงเป็นการชี้ให้เห็นว่าความตื่นตัวในเรื่องงานพัฒนาสังคมของคาทอลิกในประเทศไทยในรูปแบบองค์การมีมานานแล้ว หน่วยงานเหล่านี้ปูพื้นฐานให้กับงานสังคมสงเคราะห์ของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยในเวลาต่อมา
สมาคมนักบุญวินเซน เดอปอล เป็นหน่วยงานสังคมสงเคราะห์ฆราวาสแพร่ธรรมหน่วยงานหนึ่งที่กล่าวถึงนี้ ซึ่งผู้ที่ชักนำเข้ามาหรือเป็นผู้ริเริ่มขึ้นในประเทศไทยเป็นมิชชันนารีคือ คุณพ่อ มอรีส โยลี ในปี พ.ศ.2487 (ค.ศ.1944)
“คุณพ่อมองเห็นว่าคนยากจนในประเทศไทยมีอยู่มาก เขาเหล่านั้นต้องการความช่วยเหลือ หากได้ตั้ง สมาคมนักบุญวินเซน เดอปอล ขึ้นสมาคมก็จะสามารถแบ่งเบาภาระนี้ได้บ้าง เป็นการช่วยกันคนละไม้คนละมือ คุณพ่อจึงชักชวนได้อาสาสมัคร
จำนวนหนึ่ง แล้วเริ่มทำการฝึกอบรมแนะนำวิธีการสงเคราะห์ และช่วยเหลือตามแบบวิธีสากลของสมาคม จะต้องเห็นว่า สมาชิกอาสาสมัครพร้อมที่จะปฏิบัติงานได้แล้วจึงได้ขออนุญาตทางราชการจัดตั้งสมาคมขึ้น เพื่อเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยใช้ชื่อว่า “สมาคมนักบุญวินเซนเดอปอลแห่งประเทศไทย” ตามใบอนุญาตเลขที่ ต 418/2491 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2491 โดยมีวัตถุประสงค์คือ เป็นสมาคมฆราวาสคาทอลิกแพร่ธรรมและเป็นองค์กรเมตตากิจ วัตถุประสงค์หลักเป็นการรับใช้คนยากจน โดยไม่จำกัด ผิวเชื้อชาติ และศาสนา จิตตารมณ์เป็นการรับใช้พระคริสเจ้าในตัวคนยากจนขัดสน สมาคมนี้เป็นเครื่องมือของพระเป็นเจ้า ความจำเป็นที่จะต้องทำให้เครื่องมือนี้อยู่ในลักษณะที่ใช้การได้ดีจึงมีอยู่ตลอดเวลา”
ลักษณะกิจกรรมและวิธีการของสมาคมนี้คือ
“งานสังคมสงเคราะห์ทุกอย่างทุกประเภทเป็นงานของสมาคม สมาคมทำงาน โดยวิธีเข้าพบถึงตัวบุคคลด้วยตนเอง ช่วยบรรเทาความทุกข์ยาก ในขณะเดียวกันยกย่องศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่ขัดสนยากจน สมาคมไม่เพียงบรรเทาความทุกข์ยากเท่านั้น แต่ยังพยายามหาวิธีแก้ใขสาเหตุแห่งความทุกข์ยากนั้นให้หมดสิ้นไปอีกด้วย”
เครดิตยูเนี่ยนเป็นอีกสมาคมหนึ่ง ผู้ชักนำเข้ามาคือมิชชันนารีคณะเยซูอิตที่มีวัตถุประสงค์ที่ไม่แตกต่างไปจากสมาคมวินเซน เดอปอล นัก แม้ว่ามีแนวทางและวิธีการทำงานที่ไม่เหมือนกัน เครดิตยูเนี่ยนได้รับการสนับสนุนจากพระศาสนจักรคาทอลิก
แห่งประเทศไทยเป็นอย่างดีและมีส่วนอย่างมากต่อการปูพื้นฐานให้แก่
“คณะกรรมการสังคมสงเคราะห์” ของพระศาสนจักรคาทอลิกแห่งประเทศไทยที่ตั้งขึ้นในเวลาต่อมา “มีมติให้ยึดเอาการเผยแพร่ส่งเสริม และสนับสนุนงานเครดิตยูเนี่ยน เป็นงานเอกเรื่อยมา… ยังได้ตั้งคณะอนุกรรมการเครดิตยูเนี่ยนขึ้นมา” แม้ว่าในเวลาต่อมาสภามุขนายกคาทอลิกได้จัดแบ่งงานส่วนใดที่ไม่ได้อยู่ในความดูแลของสภามุขนายกคาทอลิกแล้วก็ตามแต่ในแต่ละสังฆมณฑลก็ยังถือว่างานเครดิตยูเนี่ยนยังคงเป็นส่วนหนึ่งของงานพัฒนาในสังฆมณฑลเช่นเดิม
ศูนย์กลางเทวา มีที่ทำการที่ห้วยขวางนับว่าเป็นศูนย์ประสานงานแห่งแรกที่ทำให้เครดิตยูเนี่ยนและแนวความคิดพัฒนาสังคมเกิดเป็นจริงได้และมีผลสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดย “ในปี พ.ศ.2507 นายแพทย์ชวลิต จิตตรานุเคราะห์ และบาทหลวง บอนแนงค์ ซึ่งเป็นนักพัฒนาในแหล่งสลัมห้วยขวางได้ร่วมกันจัดตั้ง “ศูนย์กลางเทวา” ขึ้น เพื่อใช้เป็นที่อบรมผู้ใหญ่ที่สลัมห้วยขวาง และพยายามริเริ่มที่จะใช้งานเครดิตยูเนี่ยนเข้าไปพัฒนาคนในแหล่งย่านสลัมนั้น ความคิดนี้สำเร็จในปีถัดมา คือปี พ.ศ.2508 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ได้ก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์พัฒนา หรือเครดิตยูเนี่ยนขึ้นเป็นผลสำเร็จเป็นแห่งแรกที่ ศูนย์กลางเทวา โดยใช้ชื่อว่า “เครดิตยูเนี่ยนแห่งศูนย์กลางเทวา” “ศูนย์นี้ดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือประชาชนให้รู้จักช่วยตนเองตามแนวทางพัฒนาแบบใหม่”
ต่อมาในปี พ.ศ.2510 สภามุขนายกคาทอลิกได้ประกาศตั้งคณะกรรมการสังคมสงเคราะห์ขึ้น “โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะรวบรวม ประสานงาน และส่งเสริมให้ชุมชนหรือคริสตชนมีบทบาทในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ” โดยมี ฯพณฯ คลาเรนซ์ ย.ดูฮาร์ต มุขนายกแห่งสังฆมณฑลอุดรธานีเป็นประธานท่านแรก “และนายแพทย์ชวลิต
จิตตรานุเคราะห์ แห่งศูนย์กลางเทวาได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการของคณะกรรมการนี้”
จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการสังคมสงเคราะห์ที่จัดตั้งขึ้นโดยสภามุขนายกคาทอลิกในระยะต้นนั้น มีเพียงเอางานเครดิตยูเนี่ยนเข้าเป็นโครงการหลักเท่านั้น แต่ยังได้นำนายแพทย์ชวลิต ซึค่ง เป็นผู้ก่อตั้งท่านหนึ่งของเครดิตยูเนี่ยนมาเป็นเลขาธิการของ
คณะกรรมการนี้ด้วย จนแทบจะกล่าวได้ว่าทั้งเครดิตยูเนี่ยนและคณะกรรมการสังคมสงเคราะห์เป็นหน่วยงานเดียวกัน โดยพิจารณาถึงกิจกรรมหลักของคณะกรรมการ ฯ “สนับสนุนงานเครดิตยูเนี่ยนเป็นงานเอกเรื่อยมา” ทั้งบุคลากร และสำนักงาน “และได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัคร พนักงานของศูนย์กลางเทวา และใช้ตึกศูนย์กลางเทวาเป็นสำนักงานชั่วคราว… งานชิ้นใหญ่ที่ได้ทำไปแล้ว คือ จัดให้มีการสัมมนาสำหรับคาทอลิกในเรื่องเครดิตยูเนี่ยน” เมื่อคุณพ่อบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ รับหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการ
สังคมสงเคราะห์แทนนายแพทย์ชวลิต จิตตรานุเคราะห์ “พนักงานของศูนย์เครดิตยูเนี่ยนก็ทำงานต่างๆ ให้กับคณะกรรมการสังคมสงเคราะห์ด้วย”
กล่าวโดยสรุป งานพัฒนาสังคมของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยได้พัฒนาขึ้นอย่างช้าๆ โดยเริ่มจากผู้สนใจในระดับแคบก่อนและได้ขยายวงออกไปสู่วงการที่กว้างขวางขึ้น จนในที่สุดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในงานแพร่ธรรมของพระศาสนจักรคาทอลิกแห่งประเทศไทย ซึ่งต่อมาได้ขยายวงครอบคลุมปัญหาสังคมมากขึ้น โดยสภามุขนายกคาทอลิกแห่งประเทศไทยเป็นที่ประสานงานกลางและได้มีการประสานกันในระดับนานาชาติอีกด้วย
ในปี พ.ศ.2525 สภามุขนายกคาทอลิกได้จัดระบบงานทั้งหมดออก 4 ฝ่าย ซึ่งในแต่ละฝ่ายจะมีหน่วยงานย่อยๆ ตามโครงสร้างดังนี้คือ
- กรรมาธิการฝ่ายสังคม (Office for Social Affairs)
- กรรมาธิการฝ่ายอบรมศึกษา (Office for Formation and Education Affairs)
- กรรมาธิการฝ่ายอภิบาล (Office for Pastoral Affairs)
- กรรมาธิการฝ่ายสื่อสารและการสัมพันธ์ (Office for Relation and Communication Affairs)
การจัดแบ่งงานทั้งหมดของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยออกเป็นฝ่ายนี้ ทำให้เราสามารถแยกแยะได้ว่าธรรมชาติของแต่ละงานเป็นอย่างไร ง่ายต่อการทำงานและประสานงาน ในที่นี้กรรมาธิการฝ่ายสังคม (Office for Social Affairs) ย่อมเป็นส่วนที่ต้องให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม เป็นการไม่ถูกต้องนักที่จะกล่าวว่า
กรรมาธิการด้านอื่นๆ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานพัฒนาสังคมเลย ทั้งนี้เพราะว่ายังมีคณะนักบวชเป็นจำนวนมากที่ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์อย่างเงียบๆ ในรูปของโรงพยาบาล นิคมโรคเรื้อน และสถานฝึกอาชีพ นอกจากนี้ ในแต่ละสังฆมณฑล ยังมีหน่วยงานด้านสังคมสงเคราะห์ภายในสังฆมณฑลของตนเองอีกด้วย หน่วยงานเหล่านี้มีบทบาทต่อการพัฒนาสังคมอยู่ก่อนแล้ว และต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ การจัดระบบโครงสร้างดังกล่าวจึงจำแนกตามความสะดวกของการบริหารงานมากกว่าที่จะรวบรวมธรรมชาติของงานในประเภทเดียวกันเข้าด้วยกัน
โครงสร้างงานของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยดังกล่าวประสบปัญหาการจัดกลุ่มหน่วยงานที่สอดคล้องกับลักษณะของงานในหน่วยงานนั้นอยู่มาก อันมีผลกระทบต่อปัญหาแนวทางการทำงาน และการประสานงานจนถึงทุกวันนี้
ทั้งนี้ เพราะถ้าหน่วยงานใดถูกจัดอยู่ในฝ่ายใดก็ควรดำเนินตามแนวทางของฝ่ายนั้นๆ เป็นต้น ปัญหาดังกล่าวยกตัวอย่าง เช่น สภาเยาวชนฯ ซึ่งถูกจัดอยู่ฝ่ายอบรมศึกษานั้น ลักษณะกิจกรรมในความเป็นจริงมุ่งพัฒนาเยาวชนทางด้าน สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ให้แก่เยาวชนทั้งในและนอกโรงเรียนเสียเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งได้รับการสนับสนุนเงินทุนงานหน่วยงานที่สนับสนุนโครงการพัฒนาสังคมแก่เยาวชนที่ด้อยโอกาสอีกด้วย สภาเยาวชนฯ เองเป็นสมาชิกอยู่ในส่วนขององค์การสมาชิกของสภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อ การพัฒนา ซึ่งอยู่ในส่วนของกรรมาธิการฝ่ายสังคม และเป็นหนึ่งในสี่หน่วยงานของกรรมาธิการฝ่ายสังคมที่ประสานงานกันในโครงการเด็กเร่ร่อนและจรจัด ดังนั้น สภาเยาวชนฯ จึงเป็นหน่วยงานที่มีแนวทางเน้นด้านการพัฒนาเยาวชนนอกโรงเรียนมากกว่าจะอยู่ในฝ่ายอบรมศึกษา ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ในโรงเรียนเป็น
ส่วนมาก นี่คือตัวอย่างปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่าจะจัดแบ่งหน่วยงานให้อยู่ฝ่ายใด จึงจะเหมาะสมและสอดคล้องกับธรรมชาติงานของหน่วยนั้นๆ ทำอยู่ ทั้งนี้ เพราะการจัดแบ่งดังกล่าวนี้ย่อมส่งผลกระทบและสร้างความสับสนต่อแนวทางการทำงานของหน่วยงานนั้นๆ ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ดีการจัดแบ่งดังกล่าวอยู่ในขั้นทดลองใช้เท่านั้น “ทั้งนี้มิได้หมายความว่าต่อไปจะแก้ไขไม่ได้” ในขณะเดียวกัน ในแต่ละหน่วยงานก็มีการแยกแยะลักษณะของงานและแสวงหาการประสานงานเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันอยู่แล้ว จึงอาจทำการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องกันได้ เมื่อพิจารณาในแง่นี้
การจำแนกเป็นกรรมาธิการดังกล่าวจึงมิใช่เป็นปัญหาที่สำคัญนักภายใต้พระศาสนจักรเดียวกัน
ในที่นี้เราจะพิจารณาเฉพาะหน่วยงานที่สังกัดอยู่กับกรรมาธิการฝ่ายสังคมเท่านั้น ซึ่งมุ่งทำงานกับคนจน ผู้ประสบภัย แสวงหาสันติภาพในสังคมหน่วยงานที่ถูกจัดอยู่ในกรรมาธิการฝ่ายสังคมในปี พ.ศ.2525 คือ
- สภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา
- คณะกรรมการยุติธรรมและสันติแห่งประเทศไทย
- คณะกรรมการการอพยพย้ายถิ่น
- สำนักงานคาทอลิกสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย
- การท่องเที่ยว
- การอภิบาลผู้เดินทางทางทะเล
- คณะกรรมการเพื่อการส่งเสริมชีวิตครอบครัว
การจัดแบ่งพื้นที่การแพร่ธรรมออกเป็น 10 ส่วนครอบคลุมทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2508 (1965) นับมีความสัมพันธ์ต่อการจัดโครงสร้างการทำงานทุกชนิดของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย กล่าวคือในแต่ละส่วนหรือที่เรียกว่า “สังฆมณฑล” นั้น จะมีมุขนายกเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบและปกครองการแพร่ธรรมทั้งหมดภายในสังฆมณฑลของ
ตนเอง มีอิสระในการทำงานภายในสังฆมณฑล การประสานงานและความเป็นหนึ่งเดียวกันเกิดขึ้น โดยการประชุมสภามุขนายกคาทอลิก นอกจากนี้ มุขนายกแต่ละท่านยังมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบหน่วยงานต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นอีกด้วย ดังนั้น มุขนายกแต่ละท่านจึงมีสองบทบาทในขณะเดียวกันคือ เป็นทั้งประธานของหน่วยงานระดับชาติ ในขณะเดียวกัน ก็เป็นประธานภายในสังฆมณฑลที่รับผิดชอบอยู่ด้วย ด้วยเหตุนี้หน่วยงานส่วนใหญ่ตามโครงสร้างของพระศาสนจักรจึงแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับชาติ และระดับ สังฆมณฑล ซึ่งระดับชาติหรือสำนักเลขาธิการจะเป็นหน่วยงานที่ทำการประสานงาน
กับงานในสังฆมณฑลทั่วประเทศ และเป็นตัวแทนประสานงานและติดต่อเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ เมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างดังกล่าวนี้แล้วจะเห็นว่าค่อนข้างซับซ้อน โดยในแต่ละหน่วยงานจะประกอบด้วยหน่วยงานย่อยที่เป็นอิสระอีกอย่างน้อย 11 หน่วยงาน คือสำนักเลขาธิการจะเป็นหน่วยงานประสานงานระดับชาติและระดับสังฆมณฑลอีก 1 สังฆมณฑลครอบคลุมทั่วประเทศ โดยในแต่ละสังฆมณฑลจะกระจายการทำงานไปในแหล่งชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนคาทอลิกที่มีบาทหลวง นักบวช ซึ่งทำหน้าที่อภิบาลสัตบุรุษโดยตรงอยู่แล้ว ทางด้านบุคลากรปฏิบัติงาน บาทหลวง และนักบวชย่อมไม่เพียงพอต่อปริมาณงาน อีกทั้งเป็นความต้องการที่จะให้ฆราวาสเข้ามามีส่วนในงานแพร่ธรรมอีกด้วย ดังนั้น บุคลากรที่ปฏิบัติงานส่วนใหญ่จึงเป็นฆราวาสซึ่งไม่จำกัดอยู่เฉพาะผู้ที่เป็นคาทอลิกเท่านั้น ซึ่งเป็นการตอบสนองนโยบายของสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ถึงการระดมกำลังทุกฝ่ายให้เข้ามามีส่วนร่วมในการ
แก้ไขปัญหาสังคม สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไปคือ การทำงานของหน่วยงานเหล่านี้มุ่งที่กลุ่มเป้าหมายใดเป็นหลัก เพราะถ้ายังจำกัดตัวเองเฉพาะกลุ่มคาทอลิกแล้วก็ดูเหมือนว่า พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยยังคงจำกัดตัวเองอยู่ในแวดวงของตนเองเท่านั้น ซึ่งก็ไม่แตกต่างไปจากสมัยโบราณมากนัก และที่สำคัญ คือมิได้ดำเนินตามแนวทางสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 อย่างแท้จริง หรือเป็นการทำงานเฉพาะผิวเผินเปลือกนอกเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในแต่ละหน่วยงานก็ประสบปัญหาของตนเองอยู่มาก และบางหน่วยงานก็ยังไม่ได้มีการทำงานอย่างจริงจังนัก เช่น การท่องเที่ยว การอภิบาล
ผู้เดินทางทางทะเล เป็นต้น