เป็นปีที่ 8 แล้วนับตั้งแต่ปี 2017 ที่องค์สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ได้ทรงกำหนดให้วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 33 เทศกาลธรรมดา เป็นวันคนยากจนสากล (World Day of the Poor) ซึ่งในปีนี้จะตรงกับวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน 2024 ซึ่งวันอาทิตย์ในสัปดาห์ถัดไปจะเป็นวันสมโภชพระเยซูเจ้ากษัตริย์แห่งสากลจักรวาล อันเป็นวันสุดท้ายของปฏิทินพิธีกรรม เพื่อทรงต้องการให้คริสตชนได้เห็นถึงความสำคัญของความยากจน
ในปีนี้ องค์สมเด็จพระสันตะปาปาได้กำหนดหัวข้อของสาส์นวันคนยากจนสากลไว้ว่า “คำวอนขอของคนยากจนไปถึงพระกรรณของพระเจ้า” (เทียบ บสร. 4:7) เพื่อให้เรารำลึกถึงและภาวนาเพื่อเตรียมความพร้อมของเราให้ก้าวเข้าสู่ปีศักดิ์สิทธิ์ 2025 อย่างมีความหมาย
สาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส
ในวโรกาสรำลึกถึงวันคนยากจนสากล ครั้งที่ 8
17 พฤศจิกายน 2024 อาทิตย์ที่สามสิบสาม เทศกาลธรรมดา
“คำวอนขอของคนยากจนไปถึงพระกรรณของพระเจ้า” (เทียบ บสร. 4:7)
พี่น้องที่รัก
1. คำวอนขอของคนยากจนไปถึงพระกรรณของพระเจ้า (เทียบ บสร. 21:5) เป็นหัวข้อของสาส์นประจำปี ซึ่งปีนี้อุทิศให้กับการภาวนาเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ปีศักดิ์สิทธิ์ 2025 ข้อความจากพระคัมภีร์ตอนนี้เหมาะสมที่สุดกับช่วงเวลาที่เราเตรียมการสำหรับวันคนยากจนสากลครั้งที่ 8 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายนนี้ แท้จริงแล้ว ความหวังของคริสตชนครอบคลุมถึงความเชื่อมั่นที่ว่าคำภาวนาของเราไปถึงที่ประทับของพระเจ้า ไม่ใช่แค่คำภาวนาทั่วไป แต่เป็นคำภาวนาของคนยากจนด้วย ขอให้เราใคร่ครวญและจง“อ่าน”คำภาวนานี้ที่อยู่บนใบหน้าและในเรื่องราวของคนยากจนที่เราเผชิญอยู่ทุกวัน เพื่อว่าการภาวนาของเราจะกลายเป็นหนทางแห่งการพบปะกับพวกเขาและแบ่งปันในความทุกข์ทรมานของพวกเขา
2. หนังสือบุตรสิราที่เรากำลังพูดถึงนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักเพียงพอ แต่ก็สมควรที่จะถูกค้นพบเนื่องจากมีเนื้อหามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษยชาติ กับพระเจ้า และกับโลก ผู้เขียนคือ บุตรสิรา ผู้เคยเป็นครูและอาลักษณ์ในกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งน่าจะเขียนในศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล เขาเป็นคนฉลาดที่หยั่งรากลึกในประเพณีของอิสราเอล และสอนในด้านต่าง ๆ ของชีวิตมนุษย์ เช่น งาน ครอบครัว ชีวิตทางสังคม และการศึกษาของเยาวชน เขาให้ความสนใจเป็นพิเศษกับหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับความศรัทธาในพระเจ้าและการปฏิบัติตามพระบัญญัติ เขาได้จัดการกับปัญหาที่ยุ่งยากในเรื่องเสรีภาพ ความชั่วร้าย และความยุติธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งยังคงเกี่ยวข้องกับเราอย่างมากในปัจจุบัน อาศัยการดลใจจากองค์พระจิตเจ้า บุตรสิราพยายามชี้ให้ทุกคนทราบถึงวิถีที่พึงปฏิบัติตามเพื่อมีชีวิตที่ชาญฉลาดและมีเกียรติในสายพระเนตรของพระเจ้าและในสายตาของพี่น้องเรา
3. หัวข้อหนึ่งที่นักเขียนศักดิ์สิทธิ์ผู้นี้ให้ความสนใจอย่างมากคือ การอธิษฐานภาวนา เขาทำเช่นนั้นด้วยความกระตือรือร้นอย่างยิ่งเพราะเขาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประสบการณ์ส่วนตัวของเขา แท้จริงแล้ว ไม่มีการประพันธ์คำภาวนาใดจะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้ หากไม่ได้เกิดจากคนที่ยืนเฝ้าคอยองค์พระผู้เป็นเจ้าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันและฟังพระวาจาของพระองค์ บุตรสิราประกาศว่าเขาแสวงหาปัญญาตั้งแต่วัยเยาว์ “เมื่อยังหนุ่ม ก่อนจะเดินทางไปที่ต่าง ๆ ข้าพเจ้าอธิษฐานแสวงหาปรีชาญาณ” (บสร. 51:13)
4. ในการเดินทางครั้งนี้ เขาได้ค้นพบความจริงพื้นฐานประการหนึ่งของการทรงเผยแสดง กล่าวคือ คนยากจนมีสิทธิพิเศษในดวงพระทัยของพระเจ้า จนถึงจุดที่เมื่อเผชิญกับความทุกข์ทรมานของพวกเขา พระเจ้าทรง “ไม่อดทน” จนกว่าพระองค์จะทรงให้ความยุติธรรมต่อพวกเขา “คำอธิษฐานของผู้ต่ำต้อยทะลุเมฆขึ้นไปและจะไม่หยุดจนกว่าเขาจะได้รับความบรรเทา จะไม่หยุดจนกว่าพระผู้สูงสุดจะเสด็จมาเยี่ยม และตัดสินประกาศความบริสุทธิ์ของผู้ชอบธรรม องค์พระผู้เป็นเจ้าจะไม่ทรงชักช้า” (บสร. 35:17-18) พระเจ้าทรงทราบถึงความทุกข์ทรมานของลูก ๆ ของพระองค์เพราะพระองค์ทรงเป็นบิดาที่เอาใจใส่และดูแล ในฐานะบิดา พระองค์ทรงดูแลผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด ทั้งคนยากจน คนชายขอบ ผู้ทนทุกข์ทรมาน และผู้ที่ถูกละเลย ไม่มีใครถูกกีดกันออกจากดวงพระทัยของพระองค์ เพราะในสายพระเนตรของพระองค์ เราทุกคนยากจนและขัดสน เราทุกคนเป็นขอทาน เพราะถ้าหากปราศจากพระเจ้า เราก็ไม่มีอะไรเลย เราจะไม่มีชีวิตเลยถ้าพระเจ้าไม่ประทานชีวิตนี้ให้กับเรา แต่บ่อยครั้งที่เราดำเนินชีวิตราวกับว่าเราเป็นนายเหนือชีวิตหรือราวกับว่าเรายึดครองมัน ความคิดของโลกเรียกร้องให้เราต้องเป็นใครสักคน ที่ต้องสร้างชื่อให้ตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม จนถึงทำลายบรรทัดฐานทางสังคมเพื่อสะสมความมั่งคั่ง ช่างเป็นภาพลวงตาที่น่าเศร้าเสียนี่กระไร ความสุขไม่สามารถได้มาจากการเหยียบย่ำสิทธิและศักดิ์ศรีของผู้อื่น
ความรุนแรงที่เกิดจากสงครามแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเย่อหยิ่งของผู้ที่คิดว่าตัวเองมีอำนาจต่อหน้ามนุษย์ แต่พวกเขาก็ยากจนในสายพระเนตรของพระเจ้า มีกี่คนที่ต้องยากจนข้นแค้นอันเป็นผลจากนโยบายหลงผิดที่ให้ความสำคัญกับการมีอาวุธ มีเหยื่อผู้บริสุทธิ์กี่คน เราไม่สามารถหันหลังให้กับความเป็นจริงนี้ได้ สานุศิษย์ของพระเจ้ารู้ว่า “เด็กน้อยเหล่านี้”แต่ละคนมีฉายาลักษณ์ของพระบุตรของพระเจ้า และแต่ละคนต้องได้รับการช่วยเหลือและได้รับความรักแบบคริสตชนจากเรา “คริสตชนแต่ละคนและแต่ละชุมชน ได้รับเรียกให้เป็นเครื่องมือของพระเจ้า เพื่อการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ และการส่งเสริมผู้ยากไร้ในลักษณะที่ให้พวกเขาสามารถมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างเต็มที่ สิ่งนี้เรียกร้องให้เราอ่อนน้อมและใส่ใจที่จะฟังเสียงของผู้ยากไร้ และช่วยเหลือพวกเขา” (EG 187)
5. ปีนี้พระศาสนจักรอุทิศเพื่อการอธิษฐานภาวนา เราต้องทำให้คำภาวนาของคนยากจนเป็นคำภาวนาของเราและอธิษฐานร่วมกับพวกเขา นี่เป็นความท้าทายที่เราต้องยอมรับและเป็นงานอภิบาลที่ต้องได้รับการส่งเสริม ยิ่งกว่านั้น “การกีดกันอันเลวร้ายซึ่งบรรดาคนยากจนต้องทนทุกข์ทรมานนั้น คือการไม่ได้รับความใส่ใจในด้านฝ่ายจิต ผู้ยากไร้จำนวนมากเปิดต้อนรับความเชื่ออย่างพิเศษ พวกเขาต้องการพระเจ้าและเราไม่อาจละเลยที่จะมอบมิตรภาพของพระองค์ พระพรและพระวาจาของพระองค์ การเฉลิมฉลองศีลศักดิ์สิทธิ์ การเสนอหนทางแห่งการเติบโต และการบรรลุวุฒิภาวะในความเชื่อให้แก่พวกเขา การเลือกอยู่ข้างผู้ยากไร้ ต้องแสดงออกมาด้วยการใส่ใจด้านศาสนาเป็นพิเศษ และเป็นอันดับแรก” (EG 200)
ทั้งหมดนี้ต้องใช้ใจที่ถ่อมลง เป็นผู้กล้าหาญที่พร้อมจะกลายเป็นขอทาน ใจที่พร้อมจะยอมรับว่าตัวเองยากจนและขัดสน แท้จริงแล้วมีความสัมพันธ์กันระหว่างความยากจน ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความไว้วางใจ คนที่ยากจนอย่างแท้จริงคือคนที่ถ่อมตัวลง ดังที่นักบุญออกัสติน พระสังฆราชผู้ศักดิ์สิทธิ์กล่าวไว้ว่า “คนจนไม่มีอะไรจะภาคภูมิใจ คนรวยต้องต่อสู้กับความภาคภูมิใจของพวกเขา เพราะฉะนั้น จงฟังข้าพเจ้า จงยากจนจริง ๆ มีคุณธรรม และถ่อมตน” (บทเทศน์ 14, 4) ผู้ถ่อมใจลงไม่มีอะไรจะโอ้อวดและไม่มีอะไรจะเรียกร้อง พวกเขารู้ว่าพวกเขาไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ แต่เชื่อมั่นว่าพวกเขาสามารถร้องหาความรักเมตตาของพระเจ้าได้ โดยยืนอยู่เฉพาะพระพักตร์พระองค์เหมือนบุตรเสเพลที่กลับบ้านด้วยความเป็นทุกข์กลับใจเพื่อรับอ้อมกอดของบิดา (เทียบ ลก. 15:11-24) คนยากจนซึ่งไม่มีสิ่งใดจะพึ่งพิงได้ จะได้รับพละกำลังจากพระเจ้าและมอบความไว้วางใจในพระองค์จนสิ้นเชิง แท้จริงแล้วความอ่อนน้อมถ่อมตนทำให้เกิดความไว้วางใจว่าพระเจ้าจะไม่ทรงทอดทิ้งเราและจะไม่มีวันทอดทิ้งเราโดยไม่ทรงช่วยเหลือ
6. พ่อกล่าวกับคนยากจนที่อาศัยอยู่ในเมืองและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนของเราว่า อย่าสูญเสียความมั่นใจนี้ พระเจ้าทรงใส่ใจพวกท่านแต่ละคน และทรงประทับอยู่ใกล้พวกท่าน พระองค์ไม่ลืมพวกท่านและไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ พวกเราทุกคนเคยมีประสบการณ์การสวดอ้อนวอนที่ดูเหมือนจะไม่ได้รับคำตอบ บางครั้ง พวกเราวอนขอให้เราได้หลุดพ้นจากความยากลำบากที่ทำให้เราทนทุกข์และอับอายอยู่นี้ และทึกทักไปเองว่าพระเจ้าจะไม่ทรงได้ยินเสียงร่ำไห้ของเรา อย่างไรก็ตาม การนิ่งเงียบของพระเจ้าไม่ได้หมายความว่าพระองค์ทรงเพิกเฉยต่อความทุกข์ทรมานของเรา แต่มีถ้อยคำที่ต้องรับฟังด้วยความไว้วางใจ มอบตัวเราต่อพระองค์และต่อพระประสงค์ของพระองค์ บุตรสิราเป็นพยานยืนยันอีกครั้งว่า: การพิพากษาของพระเจ้าจะเป็นประโยชน์ต่อคนยากจน (เทียบ บสร. 21:5) ดังนั้น จากความยากจน บทเพลงแห่งความหวังที่แท้จริงที่สุดจึงผุดขึ้นมา ขอให้เราจำไว้ว่า “เมื่อชีวิตภายในปิดขังตนเองอยู่กับผลประโยชน์ส่วนตัว ก็ย่อมไม่มีที่ว่างสำหรับผู้อื่นอีกต่อไป คนยากไร้เข้ามาไม่ได้ เราไม่ได้ยินเสียงของพระเจ้าอีกต่อไป และไม่รู้สึกถึงความชื่นชมยินดีอันอ่อนหวานในความรักของพระองค์อีกต่อไป ความกระตือรือร้นที่จะกระทำความดีจืดจางไป” (EG 2)
7. วันคนยากจนสากลกลายเป็นวันสำคัญสำหรับพระศาสนจักรท้องถิ่นทุกแห่ง นับเป็นโอกาสของงานอภิบาลที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นสิ่งท้าทายผู้ที่มีความเชื่อทุกคนให้ฟังคำภาวนาของคนยากจน โดยตระหนักถึงการมีอยู่และความต้องการของพวกเขา เป็นโอกาสอันดีที่จะดำเนินกิจกรรมริเริ่มต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือคนยากจนอย่างเป็นรูปธรรม และเพื่อรับรู้และสนับสนุนอาสาสมัครจำนวนมากที่อุทิศตนด้วยความกระตือรือร้นเพื่อผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดเหล่านี้ เราต้องโมทนาคุณพระเจ้าสำหรับผู้คนที่พร้อมจะรับฟังและช่วยเหลือคนที่ยากจนที่สุดในหมู่พวกเรา พวกเขาทั้งหลายคือ บรรดาพระสงฆ์ นักบวช ผู้ถวายตัว ฆราวาสชายและหญิง ผู้เป็นพยานยืนยันด้วยกิจการ ที่เปล่งเสียงเป็นเสมือนคำตอบรับของพระเจ้าต่อคำอธิษฐานภาวนาของผู้ที่หันมาหาพระองค์ ความเงียบจึงถูกทำลายลงทุกครั้งที่มีการต้อนรับและสวมกอดบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือ คนยากจนยังมีอะไรสอนเราได้อีกมากเพราะในวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับความมั่งคั่งเป็นคนแถวหน้าและเอาศักดิ์ศรีของผู้คนไปทำลายบนแท่นบูชาแห่งวัตถุสิ่งของ พวกเขาว่ายทวนกระแสน้ำ โดยเน้นว่าสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตเป็นอย่างอื่นโดยสิ้นเชิง
การอธิษฐานภาวนาจะได้รับการพิสูจน์โดยกิจเมตตาที่แท้จริง ซึ่งแสดงออกโดยการพบปะและความใกล้ชิด หากการอธิษฐานภาวนาไม่ได้แปรเปลี่ยนไปสู่การกระทำที่เป็นรูปธรรม มันก็ไร้ประโยชน์ แท้จริงแล้ว “ความเชื่อก็เช่นเดียวกัน หากไม่มีการกระทำ ก็เป็นความเชื่อที่ตายแล้ว” (ยากอบ 2:17) ฉันใดฉันนั้น งานกิจเมตตาที่ไม่มีการอธิษฐานภาวนาก็อาจเสี่ยงที่จะกลายเป็นเพียงงานการกุศลที่จะหมดสิ้นไปเองในภายหลัง “หากไม่มีการอธิษฐานภาวนาในแต่ละวันที่ดำเนินไปด้วยความซื่อสัตย์ การกระทำของเราก็ว่างเปล่า พวกเราก็สูญเสียจิตวิญญาณอันลึกซึ้ง และกลายเป็นเพียงกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางสังคม” (พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16, เรื่องการสอนคำสอน, โอกาสการเข้าเฝ้าแบบทั่วไป, 25 เมษายน 2012) เราต้องหลีกเลี่ยงการทดลองนี้และระมัดระวังอยู่เสมอด้วยความแน่วแน่และความเพียรทนที่ได้มาจากองค์พระจิตเจ้าผู้ทรงเป็นผู้ประทานชีวิต
8. ในบริบทนี้ เป็นเรื่องสวยงามที่จะนึกถึงประจักษ์พยานที่คุณแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตา สตรีผู้สละชีวิตเพื่อคนยากจน ได้ฝากไว้ให้เรา นักบุญเทเรซาย้ำอยู่เสมอว่าจากการอธิษฐานภาวนาทำให้ท่านดึงความเข้มแข็งและศรัทธาสำหรับพันธกิจรักและรับใช้ของท่านมาสู่คนที่เล็กน้อยที่สุดในหมู่พวกเรา เมื่อท่านนักบุญได้พูดที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2528 ท่านแสดงสายประคำที่ถืออยู่ในมือให้ทุกคนดู ท่านกล่าวว่า “ฉันเป็นเพียงนักบวชหญิงจน ๆ คนหนึ่งที่สวดภาวนา โดยการอธิษฐาน พระเยซูทรงเทความรักของพระองค์ไว้ในใจของฉัน และฉันมอบความรักนั้นให้กับคนยากจนทุกคนที่พบเจอระหว่างทาง อธิษฐานด้วยนะ อธิษฐานภาวนาแล้วคุณจะสังเกตเห็นคนยากจนที่อยู่เคียงข้างคุณ บางทีอาจอยู่ชั้นเดียวกันในอาคารอพาร์ตเมนต์ของคุณ บางทีแม้แต่ในบ้านของคุณก็อาจมีคนกำลังรอความรักของคุณอยู่ ภาวนาแล้วดวงตาของคุณจะเปิดขึ้น และหัวใจของคุณจะเต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก”
เราไม่อาจละเลยที่จะระลึกถึงนักบุญเบเนดิกต์ โจเซฟ ลาเบรอ (ค.ศ. 1748-1783) ซึ่งร่างของท่านพักผ่อนอย่างสงบและได้รับความเคารพในวัดประจำตำบลซานตามาเรีย ไอ มอนติ ท่านเป็นผู้แสวงบุญเดินทางจากฝรั่งเศสไปยังกรุงโรม อารามหลายแห่งปฏิเสธการเข้าพักระหว่างทาง ท่านนักบุญใช้เวลาช่วงปีสุดท้ายของชีวิตโดยอยู่อย่างยากจนท่ามกลางคนยากจน ใช้เวลาหลายชั่วโมงในการภาวนาต่อหน้าศีลมหาสนิท สวดสายประคำ สวดบททำวัตร อ่านพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่และหนังสือจำลองแบบพระคริสต์ เนื่องจากไม่มีที่อยู่อาศัย ท่านมักจะนอนอยู่ในมุมหนึ่งของโคลอสเซียมราวกับเป็น “คนเร่ร่อนของพระเจ้า” ทำให้ชีวิตของท่านกลายเป็นคำอธิษฐานที่ไม่หยุดหย่อนที่ร้องดังขึ้นไปหาพระเจ้า
9. ในขณะที่เรากำลังเดินทางไปสู่ปีศักดิ์สิทธิ์ พ่อขอเรียกร้องให้ทุกคนกลายเป็นผู้จาริกแสวงบุญแห่งความหวัง โดยตั้งเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมเพื่ออนาคตที่ดีกว่า เราต้องไม่ลืมที่จะใส่ใจกับ “รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของความรัก” (GE 145): หยุดและเข้าไปใกล้ ให้ความเอาใจใส่แก่กัน ยิ้มให้ โอบกอด และมอบคำปลอบโยนให้กัน ท่าทางเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ จำเป็นต้องมีความมุ่งมั่นทุกวัน ซึ่งบ่อยครั้งมักจะถูกซ่อนไว้ในความสงบเงียบ แต่ก็ได้รับการหนุนเสริมจากการอธิษฐานภาวนา ในเวลานี้ เมื่อบทเพลงแห่งความหวังดูเหมือนจะหลีกทางให้กับเสียงร้องคำรามของอาวุธสงคราม เสียงร่ำไห้ของผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และความเงียบของเหยื่อสงครามจำนวนนับไม่ถ้วน เราหันไปหาพระเจ้าพร้อมกับวิงวอนขอสันติสุข เรายื่นมือออกเพื่อขอรับความสงบสุขอันเป็นของขวัญอันล้ำค่าที่ถูกมอบให้แก่เรา ผู้ซึ่ง“ยากจน”ในเรื่องนี้ ในขณะเดียวกันก็มุ่งมั่นที่จะสานต่อความสุขเดียวกันนี้ให้กลับคืนสู่ชีวิตประจำวัน
10. ในทุกสถานการณ์ เราถูกเรียกให้เป็นเพื่อนกับคนยากจน ให้เจริญรอยตามพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงเริ่มต้นด้วยการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเสมอเมื่อต้องพบปะกับคนที่ต่ำต้อยที่สุด เราวอนขอพระนางมารีย์พรหมจารี พระมารดาพระเจ้าผู้ทรงประจักษ์ที่เมืองบันเนอและทรงฝากถ้อยคำที่ต้องจดจำไว้ว่า “ฉันคือพระนางพรหมจารีของคนยากจน” ขอทรงค้ำจุนเราในการเดินทางครั้งนี้ เราขอฝากคำภาวนาไว้กับพระแม่มารีย์ ซึ่งพระเจ้าจะทรงทอดพระเนตรด้วยความโปรดปราน เพราะความยากจนอันต่ำต้อยและการกระทำที่ยิ่งใหญ่ได้สำเร็จลุล่วงไปอาศัยความนบนอบไว้วางใจของพระแม่ เราเชื่อมั่นว่าคำอธิษฐานจะขึ้นไปถึงสวรรค์และพระองค์ทรงได้ยินเสียงภาวนาของเรา
กรุงโรม มหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน
วันที่ 13 มิถุนายน 2024
ระลึกถึงนักบุญอันตนแห่งปาดัว องค์อุปถัมภ์คนยากจน
พระสันตะปาปาฟรังซิส
บทภาวนาเพื่อมวลชน
ประธาน พี่น้ององค์พระผู้เป็นเจ้าแห่งสันติสุข พระองค์ทรงทราบถึงความทุกข์ทรมานของลูก ๆ ของพระองค์ และในโอกาสวันคนยากจนสากลครั้งที่ 8 ประจำปี 2024 ในวันนี้ องค์สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ทรงปรารถนาให้เราเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทที่จะกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ให้เราร่วมใจกันภาวนา เพื่อที่เราจะได้ค้นพบหัวใจของพระวาจาที่ยังคงใหม่และเป็นปัจจุบันเสมอ
1) เพื่อสมเด็จพระสันตะปาปา และบรรดาศาสนบริกรของพระศาสนจักรทุกท่าน จะได้ปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากพระเจ้าในการเป็นผู้อภิบาลที่ดี นำฝูงแกะคือประชากรของพระองค์ไปสู่จุดหมายปลายทางที่ถูกต้อง ให้เราภาวนา (โปรดสดับฟังเถิดพระเจ้าข้า)
2) เพื่อบรรดาผู้นำประเทศ ขอพระเจ้าโปรดให้เขาเหล่านั้นมีความสามัคคี ความรับผิดชอบ และเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เสริมสร้างสังคม ให้ความเอื้ออาทรได้เติบโตในหมู่ประชากรที่เชื่อในคุณค่าของการดูแลช่วยเหลือกันและกัน เพื่อความดีส่วนรวม ให้เราภาวนา (โปรดสดับฟังเถิดพระเจ้าข้า)
3) เพื่อบรรดาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากสถานการณ์สงคราม ความไม่สงบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงและเด็ก โปรดให้สถานการณ์ความขัดแย้งและสงครามสงบลงในเร็ววัน ให้เราภาวนา (โปรดสดับฟังเถิดพระเจ้าข้า)
4) เพื่อบรรดาผู้ที่อุทิศตนในงานรักและรับใช้คนยากไร้ทุกคน จะได้มีกำลังใจและได้รับการสนับสนุนในการแสดงออกถึงความห่วงใยต่อคนยากจน สามารถแสดงความเข้าใจและพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน อันเป็นเครื่องหมายของพระวาจาและทำให้ความเป็นพี่น้องกันของเรามองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ให้เราภาวนา (โปรดสดับฟังเถิดพระเจ้าข้า)
5) เพื่องานกิจเมตตาของชุมชนวัดของเราจะได้เป็นประจักษ์พยานถึงการแสดงความรักของพระคริสตเจ้าด้วยกิจการที่เป็นรูปธรรม ให้หัวใจของเราเปิดออกรับความรักของพระเจ้า และแสดงความรักของเราด้วยการดูแลเอาใจใส่คนยากจนทุกคน ให้เราภาวนา (โปรดสดับฟังเถิดพระเจ้าข้า)
ประธาน ข้าแต่พระเจ้า ขอให้ความรักอันแน่วแน่ของนักบุญเทเรซาแห่งกัลกัตตา และแบบอย่างของนักบุญเบเนดิกต์ โจเซฟ ลาเบรอ ปลุกเร้าจิตใจของข้าพเจ้าทั้งหลายในวันคนยากจนสากลประจำปีนี้ และช่วยให้เราได้ภาวนาวิงวอนองค์พระเยซูเจ้าได้ทรงโปรดประทานความรักของพระองค์ลงในจิตใจของเรา เพื่อที่เราจะได้มอบความรักนั้นต่อให้กับคนยากไร้ที่เราพบปะตลอดการเดินทางในชีวิตนี้เสมอไป พระองค์ท่านทรงจำเริญและครองราชย์ตลอดนิรันดร
ทุกคน อาแมน