สาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปา
โอกาสเทศกาลมหาพรต 2022
“อย่าท้อแท้ในการทำความดี เพราะถ้าเราไม่หยุดทำความดี เราก็จะได้เก็บเกี่ยวเมื่อถึงเวลา ดังนั้น ตราบใดที่ยังมีโอกาสจงทำความดีแก่ทุกคน” (กท 6 : 9-10)
พี่น้องชายหญิงที่รัก
เทศกาลมหาพรต เป็นเวลาที่เอื้อต่อการฟื้นฟูทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตชุมชน เนื่องจากมันนำเราไปสู่พระธรรมล้ำลึกปัสกาแห่งการสิ้นพระชนม์ และการเสด็จกลับเป็นขึ้นมาของพระเยซูคริสตเจ้า สำหรับการเดินทางของเราในเทศกาลมหาพรตปี 2022 เราจะรำพึงไตร่ตรองถึงคำเตือนของนักบุญเปาโลที่มีถึงชาวกาลาเทีย “อย่าท้อแท้ในการทำความดี เพราะถ้าเราไม่หยุดทำความดีเราก็จะได้เก็บเกี่ยวเมื่อถึงเวลา ดังนั้น ตราบใดที่ยังมีโอกาส (Kairos) จงทำความดีแก่ทุกคน” (กท 6 : 9-10)
- การหว่านและการเก็บเกี่ยว
ในคำพูดเหล่านี้อัครสาวกพูดถึงภาพของการหว่านและการเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นสิ่งที่พอพระทัยของพระเยซูมาก (เทียบ มธ 13) นักบุญเปาโลพูดกับเราถึงโอกาส (Kairos) อันเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการหว่านความดีเพื่อเห็นแก่การเก็บเกี่ยวในอนาคต “เวลาที่เหมาะสม” นี้มันคืออะไรสำหรับเรา แน่นอนว่าเทศกาลมหาพรตเป็นเวลาที่เหมาะสม แต่มันก็รวมถึงการมีชีวิตของเราด้วย เทศกาลมหาพรตเป็นภาพลักษณ์ บ่อยครั้งเหลือเกินที่ในชีวิตของเราที่ความโลภ ความภาคภูมิใจและความอยากมีมาครอบงำเป็นเจ้านายเรา อย่างที่เราเห็นได้จากเรื่องราวของชายโง่ในนิทานเปรียบเทียบของพระวรสาร ที่คิดว่าชีวิตของตนนั้นปลอดภัยเพราะเขามีข้าวและสิ่งของมากมายเต็มยุ้งฉาง (เทียบ ลก 12 : 16-21) เทศกาลมหาพรตเชิญชวนให้เรากลับใจ ให้เปลี่ยนแนวความคิด เพื่อที่ความจริงและความสวยงามแห่งชีวิตจะไม่ถูกพบว่ามีข้าวของมากเกินกว่าที่เรามอบให้กับผู้อื่น ไม่เหมือนกับการสะสมเพื่อการหว่านและแบ่งปันความดีกับผู้อื่น
1 Cf. SAINT AUGUSTINE, Serm. 243, 9,8; 270, 3; En. in Ps. 110, 1.
ผู้หว่านคนแรก คือ พระเจ้า ผู้ทรงน้ำพระทัยดี “ทรงหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความดีมากมายให้กับครอบครัวมนุษย์ของเรา (Fratelli Tutti, 54) ในเทศกาลมหาพรต เราถูกเรียกร้องให้ตอบสนองต่อของขวัญของพระเจ้า ด้วยการตอบรับพระวาจาของพระเจ้า ซึ่งเป็นพระวาจา “ที่มีชีวิตและบังเกิดผล” (ฮบ 4 : 12) การฟังพระวาจาของพระเจ้าอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เราเปิดใจกว้างและเชื่อฟังต่อการกระทำของพระองค์ (เทียบ ยก 1 : 21) และบังเกิดผลในชีวิตของเรา มันจะทำให้เรามีความชื่นชมยินดีที่ยิ่งใหญ่ และยิ่งไปกว่านั้น มันเรียกร้องให้เราเป็นผู้ร่วมงานของพระเจ้า (เทียบ 1 คร 3:9) อาศัยการใช้เวลาในปัจจุบันอย่างดี (เทียบ อฟ 5 :16) เราเองก็จะสามารถหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความดีได้ ด้วยการเรียกร้องให้เราหว่านความดีนี้ ไม่ควรมองว่าเป็นภาระ แต่ต้องมองว่าเป็นพระหรรษทานที่พระผู้สร้างปรารถนาให้เราร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างใกล้ชิดกับคุณความดีอันหาขอบเขตมิได้ของพระองค์
แล้วการเก็บเกี่ยวเล่า เรามิได้หว่านเมล็ดพันธุ์เพื่อที่จะเก็บเกี่ยวดอกหรือ แน่นอนที่สุด! นักบุญเปาโล ชี้ให้เราเห็นถึงความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดระหว่างการหว่านและการเก็บเกี่ยว โดยกล่าวว่า “ผู้ที่หว่านเมล็ดพืชเพียงเล็กน้อยก็จะเก็บเกี่ยวได้เพียงเล็กน้อย ผู้ที่หว่านเมล็ดพืชมากก็จะเก็บเกี่ยวได้มาก (2 คร 9:6) แต่เรากำลังพูดกันถึงการเก็บเกี่ยวประเภทใด? ผลประการแรกแห่งความดีที่เราหว่านไปจะปรากฏในตัวเราและในชีวิตประจำวันของเรา แม้จะเป็นการกระทำที่แสดงความใจดีเพียงเล็กน้อย ในพระเจ้าจะไม่มีการกระทำแห่งความรักใด ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใด และไม่ได้ “ใช้ความพยายามมากสักเท่าใด” จะสูญเสียเปล่า (เทียบ Evangelii Gaudium, 279) เฉกเช่นเรารู้จักต้นไม้จากผลของมัน (เทียบ มธ 7 :16, 20) ก็เช่นเดียวกันกับชีวิตที่เปี่ยมด้วยกิจการที่ดีจะเปล่งรัศมี (เทียบ มธ 5 :14-16) และส่งกลิ่นหอมแห่งพระคริสตเจ้าไปทั่วโลก (เทียบ 2 คร 2: 15) การรับใช้พระเจ้าด้วยความเป็นอิสระจากบาปจะนำมาซึ่งผลแห่งความศักดิ์สิทธิ์เพื่อความรอดของทุกคน (เทียบ รม 6 : 22)
ความจริงเราจะเห็นเพียงส่วนเล็กน้อยแห่งผลที่เราหว่านไป เพราะตามภาษิตแห่งพระวรสาร “คนหนึ่งเป็นผู้หว่าน ในขณะที่อีกคนหนึ่งเป็นผู้เก็บเกี่ยว” (ยน 4 : 37) เมื่อเราหว่านเพื่อประโชน์ของผู้อื่นเราก็มีส่วนในความรักอันทรงเมตตาของพระเจ้าเอง “มันเป็นเกียรติอย่างแท้จริงที่จะตั้งความหวังของเราไว้ในอำนาจที่ซ่อนเร้นแห่งเมล็ดพันธุ์ของความดี เราทำการหว่านทั้งนี้เพื่อเริ่มกระบวนการซึ่งผลของมันจะถูกเก็บเกี่ยวโดยผู้อื่น (Fratelli Tutti, 196) การหว่านความดีเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นจะทำให้เราเป็นไทจากการเห็นแก่ตัว ทำให้เกิดมีความใจกว้างในการกระทำของเรา และทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของขอบฟ้าที่ยิ่งใหญ่แห่งแผนการอันทรงเมตตาของพระเจ้า
พระวาจาของพระเจ้าอธิบายและยกวิสัยทัศน์ของเราให้กว้างและสูงขึ้น มันบอกเราว่าการเก็บเกี่ยวที่แท้จริงนั้นเป็นสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ เป็นวันของการเก็บเกี่ยวครั้งสุดท้ายซึ่งเป็นวันที่ไม่รู้จักตาย ผลที่สุกแล้วแห่งชีวิตและการกระทำของเราคือ “ผลแห่งชีวิตนิรันดร” (ยน 4 : 36) มันเป็น “ขุมทรัพย์ของเราในสวรรค์” (ลก 12 : 33 ; 18 : 22) พระเยซูเจ้าทรงใช้ภาพลักษณ์ของเมล็ดพันธุ์ที่ตายในดิน เพื่อที่จะเกิดผลดุจสัญลักษณ์ของพระธรรมล้ำลึกแห่งการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพของพระองค์ (เทียบ ยน 12 : 24) ในขณะที่นักบุญเปาโลพูดถึงภาพลักษณ์เดียวกันนี้เพื่อพูดถึงการกลับเป็นขึ้นมาแห่งกายของเรา “สิ่งที่หว่านลงไปนั้นเน่าเปื่อย แต่สิ่งที่กลับคืนชีพนั้นไม่เน่าเปื่อย สิ่งที่หว่านลงไปนั้นไม่มีเกียรติ แต่สิ่งที่กลับคืนชีพนั้นมีความรุ่งเรือง สิ่งที่หว่านลงไปนั้นอ่อนแอ แต่สิ่งที่กลับคืนชีพนั้นมีอานุภาพ สิ่งที่หว่านไปนั้นเป็นร่างกายตามธรรมชาติ แต่สิ่งที่กลับคืนชีพนั้นเป็นร่างกายที่มีพระจิตเจ้าเป็นชีวิต (1 คร 15 : 42-44) ความหวังที่จะกลับเป็นขึ้นมาเป็นความสว่างยิ่งใหญ่ที่พระคริสตเจ้าผู้เสด็จกลับเป็นขึ้นมานำมาสู่โลก เพราะ “ถ้าเรามีความหวังในพระคริสตเจ้าเพียงเพื่อชีวิตนี้เท่านั้น เราก็เป็นมนุษย์ที่น่าสงสารที่สุด ความจริงพระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนม-ชีพจากบรรดาผู้ตายเป็นผลแรกของบรรดาผู้ล่วงลับไปแล้ว” (1 คร 15 : 19-20) ผู้ที่เป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์อย่างใกล้ชิดในความรัก “อาศัยการตายจะเป็นความตายที่คล้ายกันกับของพระองค์” (รม 6 : 5) คือจะเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ในการกลับเป็นขึ้นมาเพื่อเสวยสุขชั่วนิรันดร์ (เทียบ ยน 5” 29) “ส่วนผู้ชอบธรรมจะส่องแสงเหมือนดวงอาทิตย์ในพระอาณาจักรของพระบิดา” (มธ 13 : 43)
- ขอให้เราอย่าเหน็ดเหนื่อยในการทำความดี
การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าทำให้โลกมีความหวัง “อย่างยิ่งใหญ่” ในชีวิตนิรันดรด้วยการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความรอดไว้ในกาลเวลาปัจจุบันของเรา (เทียบ Benedict XVI, Spe Salvi, 3 ; 7) ความผิดหวังที่ขมขื่นในความฝันร้าย ความกังวลต่อการท้าทายที่อยู่ข้างหน้า และการหมดกำลังใจถึงความยากจนแห่งทรัพยากรของเรา สามารถล่อลวงให้เราแสวงหาที่พึ่ง “ด้วยการเอาตนเป็นศูนย์กลางและเมินเฉยต่อความทุกข์ร้อนของผู้อื่น อันที่จริง แม้แต่ทรัพยากรที่ดีที่สุดของเราก็มีขีดจำกัด “เยาวชนจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า พวกเขาจะสะดุดและล้มลง (อสย 40 : 19) แต่พระเจ้า “ จะทรงประทานพละกำลังให้กับคนที่อ่อนล้า พระองค์จะทำให้ผู้ที่ไม่มีอำนาจเข้มแข็ง ผู้ที่หวังในพระเจ้าจะได้รับพลัง พวกเขาจะสยายปีกดุจพญาอินทรีย์ แม้พวกเขาต้องวิ่งพวกเขาก็จะไม่ท้อ แม้พวกเขาจะต้องเดินพวกเขาก็จะไม่เหนื่อย” (อสย 40 : 29,3) เทศกาลมหาพรตเรียกร้องให้มอบความเชื่อและความไว้ใจของเราไว้กับพระเจ้า (เทียบ 1 ปต 1 : 21) เพราะมีแต่การพิศเพ่งไปยังพระคริสตเจ้าผู้เสด็จกลับฟื้นพระชนม์ขึ้นมาเท่านั้น (เทียบ ฮบ 12 : 2) เราจึงจะสามารถที่จะตอบสนองต่อการอุทธรณ์ของอัครสาวกได้ “ขอให้เราจงอย่าได้เหนื่อยล้าในการทำความดี” (กท 6 : 9)
ขอให้เราจงอย่าเหนื่อยล้าในการอธิษฐานภาวนา พระเยซูสอนให้เรา “อธิษฐานภาวนาอยู่เสมอโดยไม่เบื่อหน่าย” (ลก 18 : 1) เราจำเป็นต้องอธิษฐานภาวนาเพราะว่าเราต้องการพระเจ้า หากคิดว่าเราไม่ต้องการสิ่งใดนอกจากตัวเราเองนั้น เป็นการหลอกตัวเองที่อันตราย เพราะโรคระบาดทำให้เราตระหนักดีถึงความเปราะบางของเราและของสังคม ขอให้เทศกาลมหาพรตนี้ทำให้เรามีประสบการณ์กับความบรรเทาจากความเชื่อของเราในพระเจ้า ซึ่งหากปราศจากพระองค์แล้วเราไม่อาจที่จะยืนหยัดอยู่ได้ (เทียบ อสย 7 : 9) ไม่มีผู้ใดจะได้รับความรอดแต่เพียงลำพัง เพราะว่าเราทุกคนอยู่ในเรือลำเดียวกันท่ามกลางพายุแห่งประวัติศาสตร์ และแน่นอนว่าไม่มีผู้ใดจะบรรลุถึงความรอดได้หากปราศจากพระเจ้า เพราะมีแต่พระธรรมล้ำลึกปัสกาของพระเยซูคริสตเจ้าเท่านั้น จึงจะมีชัยชนะเหนือน้ำทะเลที่มืดมิดแห่งความตายได้ ความเชื่อมิได้ยกเว้นเราจากภาระแห่งชีวิตและความทุกข์ยาก แต่มันจะปล่อยให้เราเผชิญกับมันในความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า ในองค์พระเยซูคริสตเจ้าพร้อมกับความหวังที่จะไม่ทำให้เราต้องผิดหวัง ซึ่งความหวังของเราคือความรักที่พระเจ้าทรงหลั่งมาสู่ดวงใจของเราโดยอาศัยพระจิต (เทียบ รม 5 :1-5)
ขอให้เราจงอย่าได้อ่อนล้าในการถอนรากถอนโคนความชั่วออกไปจากชีวิตของเรา ขอให้การจำศีลฝ่ายกายเพิ่มจิตตารมย์แห่งการทำสงครามกับบาป ขอให้เราอย่าได้ล้าที่จะขออภัยในศีลอภัยบาปและการคืนดีกัน โดยทราบดีว่าพระเจ้าไม่เคยเบื่อล้าที่จะทรงให้อภัย ขอให้เราจงอย่าได้เบื่อกับการต่อสู้กับราคะตัณหา อันเป็นความอ่อนแอที่ล่อลวงให้เราเห็นแก่ตัวและหลงระเริงในความชั่วทั้งปวง พร้อมทั้งพบกับช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ ซึ่งกลลวงต่าง ๆ ที่ทำให้มนุษย์ตกอยู่ในบาป (เทียบ Fratelli Tutti, 166) หนึ่งในสิ่งเหล่านี้คือการเสพติดกับสื่อดิจิตอล ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้อยลง เทศกาลมหาพรตเป็นเวลาเหมาะสมที่จะต่อสู้กับการล่อลวงเหล่านี้ แล้วหันมาสร้างรูปแบบของการสื่อสารระหว่างมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (ibid., 43) ที่กอปรไปด้วย “การพบปะกันที่แท้จริง” (ibid., 50) ซึ่งหน้าเป็นรายบุคคล
2 Cf. Extraordinary Moment of Prayer presided over by Pope Francis (27 March 2020).
ขออย่าให้เราเบื่อในการทำความดีด้วยงานเมตตากิจต่อเพื่อนบ้านของเรา ในช่วงเทศกาลมหาพรตนี้ ขอให้เราพยายามทำบุญให้ทานโดยการให้ด้วยความชื่นชมยินดี (เทียบ 21 คร 9 : 7) พระเจ้าผู้ทรงประทานเมล็ดพันธุ์ให้แก่ผู้หว่านและปังให้เป็นอาหาร” (2 คร 9 :10) จะทรงทำให้เราแต่ละคนไม่เพียงแต่จะมีอาหารรับประทานเท่านั้น แต่ยังให้เรามีใจกว้างในการทำความดีต่อผู้อื่นด้วย เมื่อเรามีชีวิตเพื่อหว่านความดี ขอให้เราใช้โอกาสพิเศษในโอกาสเทศกาลมหาพรตนี้ เอาใจใส่ดูแลผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับเรา เพื่อพี่น้องชายหญิงของเราที่นอนบาดเจ็บอยู่ตามหนทางแห่งชีวิต (เทียบ ลก 10 : 25-30) มหาพรตเป็นเวลาที่เอื้อต่อการแสวงหา ไม่ใช่หลีกเลี่ยงผู้ที่มีความเดือดร้อน ที่จะออกไปหาไม่ใช่ละเลย ผู้ที่ต้องการหูที่พร้อมจะรับฟัง และคำพูดที่ให้กำลังใจเวลาไปเยี่ยม มิใช่ทอดทิ้งผู้ที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว ขอให้เรานำลงสู่การปฏิบัติ ซึ่งการเรียกร้องให้เราทำความดีกับทุกคน และหาเวลาที่จะให้ความรักต่อคนจนและคนที่เดือดร้อน คนที่ถูกทอดทิ้งและไม่เป็นที่ยอมรับ คนที่ถูกรังเกียจและคนที่อยู่ตามชายขอบสังคม (เทียบ Fratelli Tutti, 193)
- หากเราไม่ยอมแพ้ เราจะเก็บเกี่ยวพืชผลของเราในเวลาอันควร
ในเทศกาลมหาพรตแต่ละปี เราได้รับการเตือนว่า “ความดีมาพร้อมกันกับความรัก ความยุติธรรมและความเอื้ออาทรจะไม่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวสำหรับทุกคน สิ่งเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้นทุกวัน” (ibid., 11) ให้เราวิงวอนพระเจ้าได้โปรดประทานให้เรามีความเพียรมั่นคงดุจชาวนา (เทียบ ยก 5 : 7) และยืนหยัดในการทำความดีทีละขั้นทีละตอน ถ้าเราล้มลงให้เรายื่นมือไปหาพระบิดาผู้ที่จะฉุดให้เราลุกขึ้นยืนเสมอ หากเราหลงทางเพราะการล่อลวงของปิศาจ ขอให้เราจงอย่าได้รีรอที่จะหันกลับไปหาพระเจ้าผู้ทรง “มีน้ำพระทัยดีที่จะให้อภัย” (อสย 55 : 7) ในเทศกาลแห่งการกลับใจนี้อาศัยการทำนุบำรุงด้วยพระหรรษทานของพระเจ้า และความเป็นหนึ่งเดียวกันของพระศาสนจักร ขอให้เราจงอย่าได้เบื่อที่จะกระทำความดี ดินจะได้รับการเตรียมด้วยด้วยการจำศีล จะได้รับการรดน้ำด้วยการอธิษฐานภาวนา และจะได้รับความมั่งคั่งด้วยเมตตากิจ ขอให้เราเชื่อมั่นว่า “หากเราไม่ยอมแพ้ เราจะเก็บเกี่ยวพืชผลของเราในเวลาอันควร” และอาศัยพระพรแห่งการเพียรทน เราจะได้รับสิ่งที่เราได้รับสัญญา (เทียบ ฮบ 10 : 36) เพื่อความรอดของเราและของผู้อื่น (เทียบ 1 ทธ 4 :16) อาศัยความรักฉันพี่น้องต่อทุกคน เราจะเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงประทานชีวิตของพระองค์เพื่อเห็นแก่เรา (เทียบ 2 คร 5 : 14 – 15) แล้วเราจะได้ลิ้มรสแห่งความชื่นชมยินดีแห่งพระอาณาจักรสวรรค์ เมื่อพระเจ้าจะทรงเป็น “ทุกสิ่งในทุกคน” (1 คร 15 : 28)
3 Cf. Angelus, 17 March 2013.
ขอพระแม่มารีย์พรหมจารี ผู้ทรงให้กำเนิดพระผู้ไถ่ในครรภ์ของพระแม่ และ “รำพึงไตร่ตรองสิ่งเหล่านี้ในดวงพระทัยของพระแม่” (ลก 2 : 19) โปรดวิงวอนขอพระหรรษทานแห่งความเพียรให้เรา ขอพระแม่ได้โปรดติดตามเราไปพร้อมกับการประทับอยู่ของพระแม่ เพื่อให้เทศกาลแห่งการกลับใจนี้จะได้บังเกิดผลแห่งความรอดนิรันดรด้วยเทอญ
ให้ไว้ ณ กรุงโรม มหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน วันที่ 11 พฤศจิกายน 2021
วันระลึกถึง นักบุญมาร์ติน พระสังฆราช
[Francis]