Friday, 4 October 2024

สำนักงานคาทอลิกสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย

สำนักงานคาทอลิกสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย หรือที่นิยมเรียกสั้นๆ ว่า “COERR” (CATHOLIC OFFICE FOR EMERGENCY RELIER AND REFUGEES) ได้รับรางวัล “สินติภาพสากล จอห์นที่ 23” กลางปี พ.ศ.2529 เป็นหน่วยงานช่วยเหลือผู้อพยพอินโดจีนของไทยและเป็นหน่วยงานในกรรมาธิการฝ่ายสังคมอีกหน่วยงานหนึ่งที่มุ่งช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากที่ต้องประสบภัยพิบัติด้วยน้ำมือของมนุษย์ด้วยกันเอง เป็นการผ่อนปรนปัญหาเฉพาะหน้าต่อผู้ที่ได้รับเคราะห์กรรมเหล่านี้  งานหลักที่สำคัญของสำนักงานฯ ก็คือ การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้อพยพลี้ภัยตามชายแดนจากประเทศเพื่อนบ้านของไทยและทำการสงเคราะห์พัฒนาให้แก่คนไทยที่ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของผู้ลี้ภัยเหล่านั้นอีกด้วย

ดังนั้น โครงการช่วยเหลือจึงมีลักษณะทั้งสงเคราะห์ ซึ่งมีระยะเวลาสั้นๆ และ   การพัฒนาซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของปัญหางานด้านสงเคราะห์และ     ผู้ลี้ภัยนี้ พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยได้จับงานด้านนี้อยู่ก่อนการก่อตั้ง     “สำนักงานฯ” แต่กระทำในนามของสภามุขนายกคาทอลิกแห่งประเทศไทย ซึ่งกระทำเป็นครั้งคราวแล้วแต่เหตุการณ์ และเป็นโครงการหนึ่งของสภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา โดยจะเห็นได้จากในปี พ.ศ.2518 “คุณพ่อ สุเทพ นามวงศ์ ร่วมประชุมเรื่อง   ผู้ลี้ภัยที่เยนีวาสวิตเซอร์แลนด์” ก่อนที่สภามุขนายกคาทอลิกแห่งประเทศไทยจะแต่งตั้งสำนักงานฯ เป็นหน่วยงานที่ทำงานด้านผู้ลี้ภัยขึ้น โดยเฉพาะในปี พ.ศ.2521 มีสังฆมณฑลที่จับงานช่วยเหลือผู้อพยพ 6 สังฆมณฑล อยู่ก่อนแล้ว คือ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ   อัครสังฆมณฑลท่าแร่ สังฆมณฑลเชียงใหม่ อุบลราชธานี อุดรธานี จันทบุรี และเนื่องจาก ผู้อพยพกัมพูชาได้ไหลบ่าเข้ามามากเข้า ซึ่งนับเป็นปัญหาที่น่าวิตกทั้งในแง่มนุษยธรรม และต่อคนไทยที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงตามชายแดนย่อมได้รับผลกระทบจากการต่อสู้ในกัมพูชา ดังนั้น ในปลาย ปี พ.ศ.2522 สภามุขนายกคาทอลิกฯ จึงได้ลงมติมอบหมายงานทั้งหมด “ทั้งงานฉุกเฉินและงานในระยะยาวเกี่ยวกับ ผู้ลี้ภัยและเงินให้มาอยู่ในความรับผิดชอบของ COERR” กล่าวโดยสรุปแล้วงานทางด้านช่วยเหลือผู้อพยพ แม้ว่าจะมีการจับงานด้านนี้มาตั้งผู้อพยพทะลักเข้ามาใหม่ๆ แล้ว แต่พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างจริงจังนัก ทั้งนี้ เพราะปัญหาทางด้านบุคลากร และ “ยังไม่มีทุนดำเนินการ” และความตื่นตัวต่อปัญหานี้ที่จะร่วมกันแก้ไขในระดับนานาชาตินี้ยังมีน้อย ดังที่รายงานการประชุมสภามุขนายกคาทอลิกได้กล่าวว่า “อัครสังฆราช มีชัย ประธานของคณะกรรมการใหม่ได้ชี้แจงว่าปัญหาเรื่องผู้อพยพเป็นปัญหาที่น่าหนักใจ และไม่มีใครรู้ว่าจะจบสิ้นเมื่อไร

อัครสังฆราช ยังได้กล่าวอีกด้วยว่า การสนับสนุนของสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทยส่งจดหมายถึงสภาพระสังฆราชโลก เพื่ออธิบายปัญหานี้ไม่ใช่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ แต่เป็นที่ปลายเหตุ ผลดีที่จะเกิดขึ้นจะเป็นเพียงความพยายามผลักดันให้รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นได้รับรู้ถึงปัญหา และมีความสนใจที่จะช่วยเหลือ ที่สุด สภาพระสังฆราชฯ ได้ตัดสินใจที่จะส่งจดหมายในนามของสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย เพื่อชี้ให้เห็นถึงความจริงในเรื่องนี้ และเรียกร้องให้องค์การกุศลต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ”

การรณรงค์ของสภามุขนายกคาทอลิกนับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี กล่าวคือ ในปีรุ่งขึ้นคือ ปี พ.ศ.2522 ตอนท้ายรายงานประจำปีของ “สำนักงานฯ”        ได้รายงานขอบคุณถึงการสนับสนุนทั้งทางด้านการเงินและบุคลากรของหน่วยงานองค์การ และผู้มีจิตศรัทธา นับได้ถึง 89 รายชื่อ ทั้งในทวีปยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย เอเชีย และหน่วยงานในประเทศไทยเอง ในปี พ.ศ.2529 จำนวนรายชื่อหน่วยงาน องค์การ และผู้มีจิตศรัทธาที่ให้การสนับสนุนทั้งทางด้านการเงินและอื่นๆ มีเพิ่มขึ้นถึง 213 รายชื่อ และได้รับเกียรติให้เป็นองค์การในอุปถัมภ์ของพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2โดยตรง อีกด้วยวัตถุประสงค์ในการทำงานของ สำนักงานคาทอลิกสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย คือ

“ให้การบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยธรรมชาติและให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยรวมทั้งราษฎรไทยที่ต้องได้รับผลกระทบจาก ผู้ลี้ภัยทั้งนี้ ด้วยการยึดหลักความรักเมตตาธรรม และมนุษยธรรม เป็นมูลฐานในการดำเนินการช่วยเหลือ โดยไม่คำนึงถึง เชื้อชาติ      ศาสนเพศ หรือลัทธิการเมือง”

จากวัตถุประสงค์ของการทำงานของสำนักงานฯ จะสังเกตได้ว่ามีความกว้างขวางอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีลักษณะเป็นงานที่เร่งด่วนที่ต้องให้ความช่วยเหลือปัจจัย 4 เฉพาะหน้าแก่ผู้ประสบเคราะห์กรรมนั้นๆ ดังนั้น การพัฒนาแนวทางการทำงานจึงแตกต่างไปจากหน่วยงานที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นอยู่มาก ทั้งนี้ เนื่องจากหน่วยงานเหล่านั้น  มีลักษณะ “กึ่งศึกษาและปฏิบัติการ” แนวทางการพัฒนาจึงต้องเป็นไปทั้งขบวนระหว่างผู้ปฏิบัติงานและประชาชนที่ร่วมในโครงการ กล่าวคือ ทั้งผู้ปฏิบัติงานและชาวบ้านจะต้องร่วมมือกันเรียนรู้และร่วมกันพัฒนาซึ่งกันและกัน จึงมีลักษณะที่เป็นกระบวนการ (Process) เรียนรู้และขบวนการ (Movement) พัฒนาอยู่มาก ในขณะที่สำนักงานฯ มิได้เป็นหน่วยงานเช่นนั้น อย่างน้อยก็ในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะกลุ่มเป้าหมายของสำนักงานฯ  อยู่ที่ผู้ที่ได้รับภัยพิบัติอย่างกระทันหัน จึงมีลักษณะบรรเทาทุกข์ และ ผ่อนปรนปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่า และถอนตัวออกเมื่อเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปรกติ ขอบเขตการทำงาน และความรีบด่วนในการทำงานจึงขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น        โดยสำนักงานฯ ได้แบ่งขอบเขตการทำงานออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกันคือ

1.บรรเทาสาธารณภัย

2.ผู้อพยพ

3.คนไทยที่ได้รับผลกระทบจากผู้อพยพ

งานรีบด่วนอันดับหนึ่งคือ งานในพื้นที่ตามชายแดนทั้ง 3 ด้านของไทย คือ ชายแดนกัมพูชา ลาว และพม่า คือผู้อพยพและคนไทยที่อาศัยอยู่รอบบริเวณนั้น  นอกจากสำนักงานฯ จะแบ่งตามสังฆมณฑลทั้ง 10 แล้ว ยังแบ่งตามพื้นที่ที่มีปัญหา        ผู้ลี้ภัยด้วย และดูเหมือนว่าพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับการเน้นเป็นพิเศษ โดยดูจากศูนย์กลางการทำงานจะอยู่ในพื้นที่ที่มีค่ายผู้อพยพอยู่ เช่น อรัญประเทศ พนัสนิคม และตราด     เป็นต้น

โครงการที่ให้การช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัยเป็นไปอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ด้านการรักษาพยาบาล สาธารณสุขด้านปัจจัย 4 ฯลฯ  ไปจนถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น การส่งเสริมอาชีพ ให้การศึกษา เพื่อเตรียมตัวไปประเทศที่สาม สันทนาการ และการอบรมทางศาสนา เป็นต้น