การสัมมนาคาริตัสไทยแลนด์ ประจำปี 2021 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 ตุลาคม 2021 ที่ผ่านมา โดยมีหัวข้อว่า “ก้าวเดินไปด้วยกันในความเป็นพี่น้อง” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่มีส่วนร่วมในการทำงานด้านสังคมของพระศาสนจักรได้มีโอกาสเรียนรู้และไตร่ตรองคำสอนผ่านสมณสาส์น “ทุกคนเป็นพี่น้องกัน” Fratelli Tutti ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสที่ทรงให้ความสำคัญกับภราดรภาพและมิตรภาพทางสังคม ที่เราจะรอดได้ก็ต่อเมื่อช่วยให้ทุกคนรอดไปด้วยกัน…โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 (อ้างอิง FT ข้อ 32) สู่การไตร่ตรองและร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันในการก้าวเดินไปด้วยกันในชีวิตและพันธกิจของพระศาสนจักร (Synodality in the live and mission of the Church) โดยเฉพาะในงานกิจเมตตา หรือ Diakonia ซึ่งองค์สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสจะทรงเปิดการประชุมซีนอดสมัยสามัญครั้งที่ 16 ในหัวข้อ “พระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกัน” (Synodality) เพื่อเอกภาพ ด้วยการมีส่วนร่วม สู่พันธกิจของพระศาสนจักรสากล โดยในส่วนของพระศาสนจักรไทยแต่ละสังฆมณฑลได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา
การสัมมนาในรูปแบบออนไลน์ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการจัดสัมมนาคาริตัสไทยแลนด์ ซึ่งการจัดการด้านเทคนิคได้รับการสนับสนุนจากทีมงานของสื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมรับการสัมมนาทั้งสิ้นกว่า 150 ท่าน จาก 54 องค์กร ทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานด้านสังคมของพระศาสนจักร ทั้งในระดับวัด ระดับสังฆมณฑล และในสภาพระสังฆราชฯ รวมทั้งคณะนักบวชต่างๆ ตลอดจนผู้ที่สนใจในงานด้านสังคมของพระศาสนจักรได้เข้าร่วมการสัมมนาและเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อหารือและกำหนดประเด็นอันจะนำไปสู่การพัฒนางานด้านสังคมของพระศาสนจักรร่วมกัน ให้เราสามารถ “รักและรับใช้” กลุ่มเป้าหมายตามกำลังความสามารถและสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง
การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เรียนรู้คำสอนของพระศาสนจักรผ่านสมณสาส์น “ทุกคนเป็นพี่น้องกัน” Fratelli Tutti ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ที่ทรงให้ความสำคัญกับภราดรภาพและมิตรภาพทางสังคม ที่เราจะรอดได้ก็ต่อเมื่อช่วยให้ทุกคนรอดไปด้วยกัน…โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และเพื่อผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ศึกษาเรียนรู้และเตรียมความพร้อมการเข้าร่วมกระบวนการซีนอดในแต่ละสังฆมณฑล โดยเฉพาะในมุมมองและมิติงานด้านสังคมของพระศาสนจักรไทย และได้เข้ามาเป็นภาคีเครือข่าย อันจะนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือและแนวทางการทำงานร่วมกันในอนาคต

วันแรกของการสัมมนา เริ่มต้นด้วยพิธีมิสซาเปิดการสัมมนา โดยบิชอปฟิลิป บรรจง ไชยรา ประธานกรรมาธิการฝ่ายสังคม (คาริตัสไทยแลนด์) ความตอนหนึ่งของบทเทศน์ พระคุณเจ้าเน้นย้ำว่า “พวกเราต้องรื้อฟื้นความเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งในสังฆมณฑลของตนเอง ระหว่างสังฆมณฑลด้วยกัน และระหว่างสังฆมณฑลกับหน่วยงานในระดับสภาพระสังฆราชฯ…ขอพระจิตเจ้าทรงนำทางเพื่อว่าเราสามารถค้นพบหนทางใหม่ตามสถานการณ์ใหม่ในการรักและรับใช้เพื่อนพี่น้อง…และพ่อขอให้กำลังใจกับทุกคน (Encourage) ในงานต่างๆ ที่พวกเราต่างอุทิศตนเพื่อดูแลเอาใจใส่อย่างดี…”

ช่วงแรกของการสัมมนาพูดถึงเรื่อง “ก้าวเดินไปด้วยกันในความเป็นพี่น้อง: Walking Together in Fratelli Tutti ภราดรภาพและมิตรภาพสู่กระบวนการทำซีนอดของพระศาสนจักรไทย ในมิติและมุมมองของงานกิจเมตตา (Diakonia)” ซึ่งได้รับเกียรติจากคุณพ่อยอดชาย เล็กประเสริฐ ผู้ที่ได้นำเราได้ไตร่ตรองถึงสมณสาส์น “ทุกคนเป็นพี่น้องกัน” และเอกสารพระศาสนจักรอื่นๆ ที่ผ่านมา คุณพ่อช่วยให้เราคิดถึงคนจนผู้ยิ่งใหญ่ คือ พี่น้องที่เราต้องดูแลซึ่งกันและกัน ซึ่งในระหว่างทางจะมีอุปสรรคของการก้าวเดิน อันจะด้วยเกิดจากความเข้าใจถึงคำว่า “ความเป็นพี่น้องกัน” มากน้อยขนาดไหน หรือเกิดจากอุปสรรคที่เป็นผลจากอำนาจนิยมหรือผลประโยชน์ คุณพ่อเน้นย้ำถึงสาเหตุสำคัญที่สุดของวิกฤตในโลกสมัยใหม่ คือ มโนธรรมของมนุษย์ที่ขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และความเหินห่างจากคุณค่าทางศาสนา
จากนั้นในช่วงต่อเนื่องกัน คุณพ่อสมเกียรติ ตรีนิกร ได้ให้เกียรตินำเราให้เข้าใจมากขึ้นถึงการก้าวเดินไปด้วยกัน (Synodality) ที่ต้องเป็นการเดินทางในหนทางเดียวกัน คุณพ่อยกตัวอย่างพระเยซูและบรรดาศิษย์ที่ร่วมเดินทางไป On the WAY “en te hodo” (hodos) เป็นการติดตามพระเยซูคริสตเจ้าของบรรดาศิษย์ “ในความเป็นหนึ่งเดียว มีส่วนร่วมในชีวิตและพันธกิจ” ดังเช่นที่หมู่คณะศิษย์ติดตามพระเยซู “จากกาลิลี ซึ่งเริ่มต้นที่ซีซารียาห์แห่งฟิลิปเหนือสุด ไปสู่ใต้สุดที่ทรงเคยพระดำเนินไป คือกรุงเยรูซาเล็ม” (มก 8:27-10:52) การเดินทางบนถนนจากกาลิลีสู่เยรูซาเล็ม เป็นต้นแบบ Synodality : On the Way การเดินทางของพระเยซูเจ้าพร้อมกับบรรดาศิษย์ ซึ่งต้องมีเอกภาพ – Communion คือ “ฟังพระเยซู เดินไปพร้อมกับพระเยซู ติดตามพระเยซู (On the Way)” และด้วยการมีส่วนร่วม – Participation คือ “ร่วมทางเดิน ร่วมรับฟัง ร่วมต้อนรับ (ด้วยท่าทีที่ยินดีรับฟัง ต้อนรับ รับใช้ และไม่ปฏิเสธเสียงร้อง) เดินตาม ไม่เดินนำ ไม่ขัดขวาง ไม่ขัดแย้งถกเถียงกัน เพื่อพันธกิจ – Mission : “สู่เยรูซาเล็ม”

หลังจากนั้นผู้ดำเนินรายการประจำวัน คุณอรณิชา บุระตะ ผู้ประสานงานของคาริตัสกรุงเทพฯ ได้แนะนำวิทยากรในช่วงที่ 2 ซึ่งเป็นการเสวนา มีหัวข้อว่า “ก้าวเดินไปด้วยกันในความเป็นพี่น้อง: เราจะรอดได้ก็ต่อเมื่อช่วยให้ทุกคนรอดไปด้วยกัน สู่สถานการณ์หลังโควิด-19” เพื่อผู้ร่วมสัมมนาได้มีโอกาสเรียนรู้สถานการณ์ที่ผ่านมาและรับฟังแนวทางที่จะก้าวเดินไปด้วยกันด้วยความเป็นพี่น้องกัน ในการอยู่ร่วมกับเชื้อโควิด-19 (Post COVID-19) ซึ่งวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้ให้เกียรติร่วมเสวนาได้แก่ นายแพทย์คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ คุณแม่อรัญญา กิจบุญชู และคุณพ่อศราวิน พัดศรีเรือง ซึ่งคุณหมอคำนวณ อึ้งชูศักดิ์ วิทยากรท่านแรกได้นำเสนอในประเด็นสำคัญต่างๆ อาทิ สถานการณ์โควิด-19 หลังจากนี้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคมด้วย ซึ่งอาจจะมีปัญหาสังคมที่อาจถูกมองข้าม โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มประชากรเปราะบาง คุณหมอคำนวณได้ทิ้งท้ายด้วยบทบาทของคริสตชน องค์กร และชุมชนในประเทศไทยต่อการทำงานในด้านนี้ โดยเทียบเคียงบทพระวรสารที่ว่า เมื่อไหร่กันที่เราได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้า ..เมื่อเราเป็นแขกแปลกหน้า ..เมื่อเราหิว กระหาย ..เมื่อเราไม่มีเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ..เมื่อเราขัดสน ..เมื่อเราไร้ญาติขาดมิตร ..เมื่อเราถูกจองจำ
จากนั้น คุณแม่อรัญญา กิจบุญชู ได้นำเสนอตัวอย่างการทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ท่านได้ยกข้อความจากพระคัมภีร์จากพระธรรมเดิมที่ว่า “เราได้เห็นความทุกข์เข็ญของประชากรของเราซึ่งอยู่ในประเทศอียิปต์แล้ว และได้ยินเสียงร้องของพวกเขา …เรารู้ถึงความทุกข์โศกต่างๆ ของพวกเขา” (อพย 3:7) ซึ่งในส่วนของคณะนักบวชที่ทำงานนี้ ยึดมั่นในหลักการ ด้วยความรัก ต้อนรับผู้ทุกข์ยาก และสร้างสังคมที่สมกับชื่อของเรา (FT ข้อ 71) …เป็นไปได้ที่จะต่อสู้โดยเริ่มต้นจากระดับล่างสุดและระดับเริ่มต้น เพื่อสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่สุดในระดับท้องถิ่นที่สุด ไม่ต้องกลัวความทุกข์ทรมานหรือทำอะไรไม่ถูก เพราะนี่คือความดีทั้งปวงที่พระเจ้าทรงหว่านลงในหัวใจของมนุษย์ และจงอย่าทำเรื่องนี้เพียงคนเดียวตามลำพัง (FT ข้อ 78) และจากหลักการดังกล่าว ทีมงานได้ลงมือร่วมกับบุคคล กลุ่ม องค์กร หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่เขตต่างๆ ในกรุงเทพฯ ที่อยู่ในระยะการทำงานของอารามพระหฤทัยคลองเตย นอกจากงานช่วยเหลือเรื่องโควิด-19 แล้ว ยังมีการทำงานในโครงการ Care & Share – Food For All อีกด้วย ด้วยแนวคิดที่ว่า “อาหารทุกชนิดมีคุณค่า ไม่ควรถูกทิ้งให้สูญเปล่า จนนำไปสู่การแบ่งปันแก่คนที่ขาดแคลนในสังคม” ร่วมกับ Tops Market กว่า 33 สาขากับศูนย์สงเคราะห์ในความดูแลของคณะนักบวชต่างๆ
คุณพ่อศราวิน พัดศรีเรือง วิทยากรอีกท่านของการเสวนา ได้นำเสนอถึงความร่วมมือจากคณะภคินีผู้รับใช้แห่งดวงหทัยนิรมลของพระแม่มารีย์ จาก Evergreen ที่ประสานงานโดยคณะธรรมทูตไทย และจากหน่วยงานต่างๆ ในสังฆมณฑลราชบุรีในการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มต้นในจังหวัดเพชรบุรีเมื่อสถานการณ์วิกฤตโดยเฉพาะในโรงงานที่อำเภอเขาย้อย และสิ่งสำคัญคือ การเป็นกำลังใจให้กันและกัน (Encourage) อันนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพในการทำงาน (Empower) เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนที่เรารับรู้รับทราบถึงความยากลำบาก
จากนั้นช่วงบ่ายของวันแรกของการสัมมนาฯ เป็นการนำเสนอตัวอย่างพันธกิจงานด้านสังคมของแต่ละสังฆมณฑลที่เราก้าวเดินไปด้วยกันในชีวิตและพันธกิจของพระศาสนจักร เพื่อรับฟังมุมมองจากแต่ละสังฆมณฑลและเครือข่ายคาทอลิกฯ ผ่านการนำเสนอผลการดำเนินงานที่สามารถยกเป็นตัวอย่างชีวิตและพันธกิจของพระศาสนจักร พร้อมทั้งให้มุมมอง คุณค่า หรือแรงบันดาลใจของงานที่นำเสนอ

วันที่สองของการสัมมนาเป็นการที่ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้รับฟัง ทิศทางจากข้อสรุปการประเมินแผนยุทธศาสตร์อันเนื่องมาจากสมัชชาของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย 2015-2020 เพื่อทำความเข้าใจถึงผลสรุปที่ได้จากการประเมินแผนยุทธศาสตร์ฯ รวมทั้งข้อเสนอแนะอันจะเป็นประโยชน์ในการหารือและกำหนดแผนยุทธศาสตร์การทำงานด้านสังคมร่วมกันต่อไป โดยคุณพ่อสุวัฒน์ เหลืองสอาด ซึ่งได้ทำให้เราได้เข้าใจถึงพระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกันในพันธกิจด้านสังคม ซึ่งคุณพ่อสุวัฒน์ ได้ทำตารางเทียบเคียงระหว่างแนวทางที่พระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกัน กับ กฤษฎีกาของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย ปี 2015 และแผนยุทธศาสตร์ของคาริตัสไทยแลนด์ ปี 2017-2020 การวิเคราะห์ถึงพันธกิจรับใช้ด้านสังคม (Social Diakonia) ที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการดูแลสิ่งสร้าง ด้วยการให้ความรู้ การพัฒนา การอภิบาล และบริการการดูแลด้วยท่าทีที่รับใช้ และเคารพในความแตกต่าง ทั้งนี้คุณพ่อได้สรุปข้อท้าทายที่ให้เราได้มองทั้งในสภาพสังคม การสร้างความเป็นจิตหนึ่งใจเดียวกัน การเสริมสร้างการมีส่วนร่วม และสานต่อพันธกิจข่าวดี ให้ความสำคัญกับมิติด้านสังคมในชุมชนวัด ซึ่งต้องแสวงหาหนทางใหม่ เชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน แบ่งปันทรัพยากรเพื่อช่วยเหลืองานซึ่งกันและกัน
ในตอนท้ายของการสัมมนาเป็นการประชุมกลุ่มย่อย “กำหนดแนวทางการก้าวเดินไปด้วยกันในแต่ละสังฆมณฑล” เพื่อผู้ร่วมสัมมนาได้รวมกลุ่มในแต่ละสังฆมณฑลเพื่อนำเอาประเด็นต่างๆ ที่ได้รับจากการสัมมนา มาหารือและกำหนดเป็นแนวทางการทำงานของแต่ละสังฆมณฑล

คุณพ่อไพรัช ศรีประเสริฐ เลขาธิการคาริตัสไทยแลนด์ ได้เป็นประธานในพิธีมิสซาปิดการสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้ โดยได้ให้กำลังใจและให้แนวทางการทำงานที่ทุกฝ่ายต้องบูรณาการความร่วมมือ ช่วยเหลือกันและกันทำงาน เพื่อและร่วมกับบุคคลเป้าหมายในที่สุด ให้สอดคล้องกับที่พระศาสนจักรสากลเรียกร้องการทำงานที่ “ก้าวเดินไปด้วยกัน”
===============
กรรมาธิการฝ่ายสังคม (คาริตัสไทยแลนด์) ภายใต้สภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย เป็นโครงสร้างที่ประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบการดำเนินงานด้านสังคม ทั้งงานสงเคราะห์ งานพัฒนา และงานดูแลให้บริการสังคมของสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย โดยร่วมมือกับองค์กรสมาชิกในระดับสังฆมณฑล คณะนักบวช และกับองค์กรเครือข่ายอื่นๆ ร่วมกันศึกษาไตร่ตรองคำสอนด้านสังคม ส่งเสริม และพัฒนาการเรียนรู้การดำเนินงานด้านสังคมตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของสภาพระสังฆราชฯ และของสหพันธ์คาริตัสสากล วางแผนงานตามประเด็นต่างๆ นำไปสู่การดำเนินงานร่วมกันต่อไป