Sunday, 20 April 2025

สรุปรายงานการศึกษาดูงานการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม ประสบการณ์ของสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ระหว่างวันที่ 17-24 กันยายน 2023

            การศึกษาดูงานการดูแลผู้สูงอายุเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการดำเนินงานโครงการเพื่อผู้สูงอายุซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของสหพันธรัฐเยอรมนี และคาริตัสเยอรมนี ดำเนินงานในระยะแรก ปี 2021-2023 และอยู่ในระยะของการพัฒนาแนวทางการทำงานในระยะที่ 2 ระหว่างปี 2024-2026 โดยการศึกษาดูงานครั้งนี้ให้ความสนใจในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม และการทำงานของระบบ Long Term Care เพื่อการเรียนรู้และทำความเข้าใจระบบการดูแลผู้สูงอายุของประเทศเกาหลีใต้

            คาริตัสไทยแลนด์ ซึ่งร่วมดำเนินงานโครงการดังกล่าวได้รับเชิญให้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการศึกษาดูงานครั้งนี้ โดยได้ดำเนินการคัดเลือกผู้แทนจากส่วนของประเทศไทย ดังนี้

  1. เซอร์มักดาเลนา สุภาพร ดาวดี, SPC – ผู้อำนวยการศูนย์ผู้สูงอายุเซนต์หลุยส์ (ลำไทร)
  2. นายแพทย์ภูษิต ประคองสาย – เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)
  3. นางสาวปิยะฉัตร สะอาดเอี่ยม พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าแร่
    ในฐานะผู้จัดการศูนย์เดย์แคร์ – อัครสังฆมณฑลท่าแร่หนองแสง
  4. นายบุญนิธิ นามบุญ – เจ้าหน้าที่อาวุโส ฝ่ายแผนงาน ศูนย์สังคมพัฒนาสังฆมณฑลอุบลราชธานี
  5. นายจีรวัฒน์ เจนผาสุก – ผู้ประสานงานโครงการ สำนักเลขาธิการ คาริตัสไทยแลนด์
    และผู้ประสานงานหลักตลอดระยะเวลาการเดินทางศึกษาดูงานครั้งนี้

            คณะศึกษาดูงานได้รับฟังบรรยายสถานการณ์ของผู้สูงอายุและการดูแลผู้สูงอายุของประเทศเกาหลีใต้ มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของประเทศต่างๆ จากนั้นได้รับฟังนโยบายการดูแลผู้สูงอายุของเทศบาลเมืองจองโน ณ กรุงโซล โดยคณะผู้จัดได้ยกเป็นตัวอย่างเพื่อคณะศึกษาดูงานได้เข้าใจนโยบายการดูแลผู้สูงอายุของประเทศเกาหลีใต้ ที่ถูกนำไปปฏิบัติจริง ซึ่งเมืองจองโนนี้เป็นหนึ่งใน 25 เขตของกรุงโซล มีพื้นที่ครอบคลุม 17 ตำบลและเป็นหนึ่งในเมืองที่มีประชากรผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 การดูแลผู้สูงอายุ แบ่งเป็นเรื่องต่างๆ อาทิ การดูแลเรื่องอาชีพที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ การช่วยเหลือการดำรงชีพขั้นพื้นฐาน การดูแลผู้สูงอายุที่อยู่เพียงลำพัง และสนับสนุนวัฒนธรรมที่ผาสุกของผู้สูงอายุ 

            นอกจากการฟังบรรยายแล้ว คณะศึกษาดูงานได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมสถานดูแลผู้สูงอายุกลางวัน สถานพักฟื้นผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม ศูนย์ผู้สูงอายุในชุมชน/ชมรมผู้สูงอายุ พร้อมทั้งทำความเข้าใจถึงกระบวนการทำงานในสถานที่ต่างๆ เพื่อเข้าใจระบบการดูแลผู้สูงอายุ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างครอบครัว ชุมชน องค์กรเอกชน และหน่วยงานรัฐท้องถิ่น ซึ่งทั้งหมดมีระบบ สปสช.ของประเทศเกาหลีใต้กำกับดูแล โดยหลักๆ ระบบการดูแลผู้สูงอายุประกอบด้วย 2 ส่วน คือ Home Care และสถานดูแลผู้สูงอายุหรือศูนย์ผู้สูงอายุรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะมีการออกแบบการดูแลผู้สูงอายุตามปัญหาและความต้องการ (customized care service) การพัฒนาความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ตามแนวทาง Public Private Partnership เป็นส่วนสำคัญในการทำงานเพื่อผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน

            ในส่วนของระบบการดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อม ซึ่งเป็นหัวข้อหลักของการศึกษาดูงานครั้งนี้ ประเทศเกาหลีใต้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1999 จากนั้นก็มีการพัฒนาเรื่อยมา จนกระทั่งพบความจำเป็นในการ  จัดให้มีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อมในชุมชน ตามบริบทสังคมของผู้สูงอายุในเกาหลีใต้ โดยเฉพาะในชุมชนเมืองที่ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุอยู่เพียงลำพัง ลูกหลานออกไปทำงานในช่วงเวลากลางวัน ผู้สูงอายุมีอายุยืนขึ้น การทำงานในระบบชุมชน จะเป็นการให้ผู้สูงอายุได้อยู่อาศัยที่บ้านของตนเองและไปรับบริการการดูแลที่ศูนย์เดย์แคร์ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม โดยพยายามสร้างบรรยากาศการพึ่งตนเองให้มากที่สุด

            นอกจากนั้น งานดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อมต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันและสร้างความเข้าใจเรื่องภาวะสมองเสื่อม ซึ่งกรุงโซลได้ตั้งเป้าหมาย ไว้ว่า “กรุงโซลคือสถานที่ที่คุณสามารถอาศัยอยู่ได้โดยปราศจากความกังวลกับภาวะสมองเสื่อม” โดยแต่ละเมืองจะมีศูนย์ Dementia Relief Center ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัยต่างๆ ประเด็นสำคัญหนึ่งคือ การสร้างการรับรู้ของสังคมในการนำไปสู่สังคมที่อยู่ร่วมกับผู้ที่เป็นภาวะสมองเสื่อมได้

            การศึกษาดูงานครั้งนี้ได้เยี่ยมศึกษาดูงานการจัดตั้งศูนย์เดย์แคร์ของวัดคาทอลิกกุปาบาล ที่อยู่ในความดูแลของคาริตัสโซล โดยทำงานร่วมกับคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร เพื่อพยายามเป็นต้นแบบให้กับศูนย์เดย์แคร์ที่เริ่มเกิดขึ้นโดยภาคเอกชน ให้เห็นการทำงานที่มีคุณภาพในการดูแลผู้สูงอายุอย่างจริงจังตามจิตตารมณ์คาทอลิก ซึ่งศูนย์เดย์แคร์มี 2 วัตถุประสงค์ คือ 1) ดูแลกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะถดถอย บางรายเริ่มมีภาวะสมองเสื่อม และ 2) ช่วยเหลือครอบครัวที่มีผู้สูงอายุอยู่ด้วย แต่ไม่สามารถให้การดูแลได้อย่างดีเท่าที่ควร ศูนย์ดังกล่าวมีกิจกรรมมากมาย เช่น การออกกำลังกาย นันทนาการ เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่ยังมีกำลังบ้างไม่ให้ถดถอยเร็วเกินไป

            สำหรับการคัดเลือกผู้สูงอายุเข้ารับบริการของศูนย์ก็เป็นการจัดการของศูนย์เองแต่มีมาตรฐานหลักหรือมาตรฐานกลางเป็นพื้นฐาน มีตารางเวลาชัดเจน เช่น ทุกวันศุกร์จะมีกิจกรรมนันทนาการ โดยมีผู้เชี่ยวชาญมานำกิจกรรม มีการละเล่นต่างๆ พระศาสนจักรโซล ต้องการให้ศูนย์ดังกล่าวไม่เป็นเพียงสถาบันเท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว และด้วยการทำงานในลักษณะนี้ ทำให้ศูนย์เดย์แคร์ของวัดคาทอลิกแห่งนี้เป็นที่นิยมของบรรดาผู้สูงอายุ

            วันสุดท้ายของการศึกษาดูงาน เป็นการประเมินและแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้ตลอดการศึกษาดูงานเพื่อเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานในระยะที่สองของโครงการ โดยเฉพาะ

  1. การดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม เน้นการป้องกันเป็นส่วนสำคัญ จึงต้องมีการตรวจวินิจฉัยและคัดกรองตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้การรักษาในระยะแรกเริ่ม
  2. ศูนย์เดย์แคร์ ต้องได้รับการดูแลจากทีมงานที่มีทักษะและความรู้ ผ่านการอบรมอย่างดี และมีกิจกรรมดูแลผู้สูงอายุ
  3. ศูนย์ผู้สูงอายุชุมชน (Community Centers หรือ Senior Clubs)  เป็นศูนย์สำหรับผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ ส่วนใหญ่กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุที่แข็งแรง เพื่อให้ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ยังมีกิจกรรมต่อเนื่อง จึงเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อการร่วมทำงานในชุมชน ไม่จำเป็นต้องใช้เงินมาก สถานที่เข้าถึงง่าย ไม่เหมือนศูนย์เดย์แคร์ และไม่ได้จัดกิจกรรมดูแลผู้สูงอายุ โดยผู้สูงอายุต้องรวมตัวและเป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมด้วยตัวผู้สูงอายุเอง ซึ่งนักสังคมสงเคราะห์มิใช่ผู้จัดตั้งศูนย์ผู้สูงอายุชุมชน เพียงคอยช่วยเหลือเรื่องการจัดกิจกรรมของผู้สูงอายุ ศูนย์นี้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับศูนย์สวัสดิการผู้สูงอายุ
  4. ศูนย์สวัสดิการผู้สูงอายุ  ดำเนินการโดยกรมสวัสดิการผู้สูงอายุ ซึ่งจำนวนศูนย์ขึ้นอยู่กับจำนวนของผู้สูงอายุที่มีความต้องการ