Wednesday, 11 December 2024

คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการส่งเสริมชีวิตครอบครัว

เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งในกรรมาธิการฝ่ายสังคม ที่พระศาสนจักรคาทอลิก         ในประเทศให้ความสนใจ ทั้งนี้เพราะความเป็นไปในชีวิตสังคมมีพื้นฐานมาจากชีวิตครอบครัวเป็นเบื้องต้น ดังนั้นปัญหาสังคมจึงมีพื้นฐานมาจากปัญหาครอบครัวนั่นเอง

พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยได้ให้ความสนใจในเรื่อง ชีวิตครอบครัวตั้งแต่     เริ่มก่อตั้งหน่วยงานด้านสังคมเสมอมาโดยจะเห็นได้จากการจัดประชุม และส่งเจ้าหน้าที่ ไปอบรมในหัวข้อ ชีวิตครอบครัวทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องจนก่อนตั้งเป็นหน่วยงานเฉพาะในที่สุด ในเดือน มิถุนายน ปี พ.ศ.2516 ได้มีการพิจารณาเรื่องชีวิตครอบครัวถึง 2 ครั้ง คือ การประชุมคณะแพทย์คาทอลิกในไทยเรื่องการวางแผนครอบครัว ได้ผลสรุปดังนี้คือ เพราะความบีบคั้นทางเศรษฐกิจคนส่วนมากอยากมีลูกจำนวนน้อย ฉะนั้นควรอนุญาตให้ใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว และไม่ควรสนับสนุนวิธีการคุมกำเนิดแบบถาวรและการทำแท้ง และที่สำคัญคือ ควรจัดการศึกษาอบรมด้านชีวิตครอบครัว และการวางแผนครอบครัวให้ทั่วถึง ในเดือนเดียวกันนั้นเอง ผู้นำฆราวาสไทย  ได้มีการประชุมในเรื่องเดียวกันนี้และได้สรุปเสนอผลการประชุมดังนี้ คือ “ควรมีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เพื่อรับผิดชอบเกี่ยวกับ “การวางแผนครอบครัว โดยตรง ซึ่งประกอบด้วยนักบวช แพทย์ และฆราวาสที่เกี่ยวข้อง ควรจัดให้มีการศึกษาอบรมแก่คาทอลิกมากขึ้นในเรื่องนี้ โดยคณะกรรมการดังกล่าว… ในการพูดถึงการวางแผนครอบครัว น่าจะพูดถึงศีลธรรม การควบคุมตัวเอง ความรับผิดชอบ เหตุผลทางเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมด้วย”

สมาคมนักบุญวินเซนเดอปอล เป็นหน่วยงานสังคมสงเคราะห์ฆราวาสแพร่ธรรมหน่วยงานหนึ่งที่กล่าวถึงนี้ ซึ่งผู้ที่ชักนำเข้ามาหรือเป็นผู้ริเริ่มขึ้นในประเทศไทยเป็นมิชชันนารีคือ คุณพ่อ มอรีส โยลี ในปี พ.ศ.2487 (ค.ศ.1944)

“คุณพ่อมองเห็นว่าคนยากจนในประเทศไทยมีอยู่มาก เขาเหล่านั้นต้องการ    ความช่วยเหลือ หากได้ตั้งสมาคมนักบุญวินเซนเดอปอลขึ้นสมาคมก็จะสามารถแบ่งเบาภาระนี้ได้บ้าง เป็นการช่วยกันคนละไม้คนละมือ คุณพ่อจึงชักชวนได้อาสาสมัคร
จำนวนหนึ่ง แล้วเริ่มทำการฝึกอบรมแนะนำวิธีการสงเคราะห์ และช่วยเหลือตามแบบ     วิธีสากลของสมาคม จะต้องเห็นว่า สมาชิกอาสาสมัครพร้อมที่จะปฏิบัติงานได้แล้วจึงได้  ขออนุญาตทางราชการจัดตั้งสมาคมขึ้น เพื่อเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย
โดยใช้ชื่อว่า “สมาคมนักบุญวินเซนเดอปอลแห่งประเทศไทย” ตามใบอนุญาตเลขที่       ต 418/2491 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2491 โดยมีวัตถุประสงค์คือ เป็นสมาคมฆราวาสคาทอลิกแพร่ธรรมและเป็นองค์กรเมตตากิจ วัตถุประสงค์หลักเป็นการรับใช้คนยากจน โดยไม่จำกัด ผิวเชื้อชาติ และศาสนา จิตตารมณ์เป็นการรับใช้พระคริสเจ้าในตัวคน
ยากจนขัดสน สมาคมนี้เป็นเครื่องมือของพระเป็นเจ้า ความจำเป็นที่จะต้องทำให้เครื่องมือนี้อยู่ในลักษณะที่ใช้การได้ดีจึงมีอยู่ตลอดเวลา”

 

ลักษณะกิจกรรมและวิธีการของสมาคมนี้คือ

“งานสังคมสงเคราะห์ทุกอย่างทุกประเภทเป็นงานของสมาคม สมาคมทำงานโดยวิธีเข้าพบถึงตัวบุคคลด้วยตนเอง ช่วยบรรเทาความทุกข์ยาก ในขณะเดียวกันยกย่องศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่ขัดสนยากจน สมาคมไม่เพียงบรรเทาความทุกข์ยากเท่านั้น           แต่ยังพยายามหาวิธีแก้ใขสาเหตุแห่งความทุกข์ยากนั้นให้หมดสิ้นไปอีกด้วย”

เครดิตยูเนี่ยนเป็นอีกสมาคมหนึ่ง ผู้ชักนำเข้ามาคือมิชชันนารีคณะเยซูอิตที่มีวัตถุประสงค์ที่ไม่แตกต่างไปจาก สมาคมวินเซน เดอปอล นัก แม้ว่ามีแนวทางและวิธีการทำงานที่ไม่เหมือนกัน เครดิตยูเนี่ยนได้รับการสนับสนุนจากพระศาสนจักรคาทอลิก
แห่งประเทศไทยเป็นอย่างดีและมีส่วนอย่างมากต่อการปูพื้นฐานให้แก่

“คณะกรรมการสังคมสงเคราะห์” ของพระศาสนจักรคาทอลิกแห่งประเทศไทย  ที่ตั้งขึ้นในเวลาต่อมา “มีมติให้ยึดเอาการเผยแพร่ส่งเสริม และสนับสนุนงานเครดิตยูเนี่ยน เป็นงานเอกเรื่อยมา… ยังได้ตั้งคณะอนุกรรมการเครดิตยูเนี่ยนขึ้นมา”แม้ว่าในเวลาต่อมาสภามุขนายกคาทอลิกได้จัดแบ่งงานส่วนใดที่ไม่ได้อยู่ในความดูแลของสภามุขนายกคาทอลิกแล้วก็ตามแต่ในแต่ละสังฆมณฑลก็ยังถือว่างานเครดิตยูเนี่ยนยังคงเป็นส่วนหนึ่งของงานพัฒนาในสังฆมณฑลเช่นเดิม

ความสนใจในเรื่องการพัฒนาชีวิตครอบครัว ได้เจริญเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ แม้ว่าในขณะนั้นยังไม่มีการตั้งหน่วยงานขึ้นรับผิดชอบโดยเฉพาะ ในฐานะที่สภาคาทอลิกฯ เป็นหน่วยงาน ที่ดำเนินตามนโยบายของสภามุขนายกคาทอลิกด้านสังคม จึงได้รับมอบหมายให้ สนับสนุนด้านชีวิตครอบครัว โดยการจัด “ชีวิตครอบครัว” เป็นโครงการที่สำคัญโครงการหนึ่งของสภาคาทอลิกฯ ส่งเจ้าหน้าที่สภาคาทอลิกฯ เข้าร่วมประชุม “ปัญหาประชากร  ซึ่งจัดโดยสถาบัน ไอ เอส โอ ที่มนิลา ฟิลิปปินส์ วันที่ 18-21 มิถุนายน 2516” ในการจัดสัมมนาชาวบ้านทุกครั้งศูนย์สังคมพัฒนาสังฆมณฑลต่างๆ ก็จะจัด “การอบรมฟื้นฟูชีวิตครอบครัว… (โดยแบ่งเป็นกลุ่มๆ)… คือ กลุ่มพ่อบ้าน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเยาวชน กลุ่มอนุชน และเด็กเล็ก กลุ่มศึกษาชีวิตครอบครัว ด้วยทุกครั้ง ต่อมา พ.ศ.2517 มีมุขนายก บาทหลวง นักบวช และฆราวาส ไปศึกษาเรื่องชีวิตครอบครัวที่บูคิดนอน ฟิลิปปินส์ ซึ่งเมื่อมีการ” จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมชีวิตครอบครัวชุดเตรียมการ (ก็ได้เชิญ) ผู้ที่ผ่านการศึกษาจากบูคิดนอน ฟิลิปปินส์ ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ”

กลางปี พ.ศ.2518 สภาคาทอลิกได้จัดสัมมนา “เรื่องชีวิตครอบครัว” ขึ้นที่    สวางคนิวาส สมุทรปราการ “โดยได้รับความร่วมมือในด้านวิชาการจากพระสงฆ์ นักบวช แพทย์ และเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่ทำงานในด้านเกี่ยวกับประชากร… (ผลของการสัมมนา   ครั้งนี้) สังฆมณฑลต่างๆ มีความเห็นร่วมกันว่า การพัฒนาชีวิตครอบครัวเป็นเรื่องด่วน และต่างก็มีแผนงานของแต่ละสังฆมณฑลด้วย”

ต่อมา ในปี พ.ศ.2520 ได้เริ่มงานนี้อย่างจริงจัง “โดยการฝึกอบรมผู้นำส่งเสริมชีวิตครอบครัวรุ่นที่ 1 (ระดับชาติ) ที่ กรุงเทพมหานคร ใช้เวลา 2 สัปดาห์มีผู้ผ่านการอบรม    34 ท่านจาก 8 สังฆมณฑล ส่วนใหญ่เป็นผู้มีครอบครัวแล้ว” และในปี พ.ศ.2521 จัดให้    มีการเลือกตั้งคณะกรรมการอำนวยการ โดยได้รับการสนับสนุนโครงการและบุคลากร   จากสภาคาทอลิกฯ ด้วยดี โดยในระยะแรกมีสำนักงานอยู่ที่เดียวกับสภาคาทอลิกฯ

ในต้นปี พ.ศ.2521 บุคลากรของคณะกรรมการส่งเสริมชีวิตครอบครัวได้รับการคัดเลือก 5 คนเข้าประชุม “International Conference on the Ovulation Method” อันเป็นวิธีคุมกำเนิดแบบนับวันไข่สุก หรือการวางแผนครอบครัวแบบธรรมชาติ           ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมชีวิตครอบครัวถือเป็นโครงการเผยแพร่ความรู้
และรณรงค์วิธีการคุมกำเนิดแบบนี้เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน

ลักษณะโครงสร้างการทำงานของคณะกรรมการส่งเสริมชีวิตครอบครัวเหมือนกับ โครงสร้างของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย กล่าวคือ การทำงานและประสานงานจะกระทำผ่านผู้รับผิดชอบงานส่งเสริมชีวิตครอบครัวของแต่ละสังฆมณฑล
โดยมีสำนักเลขาธิการเป็นสำนักงานระดับชาติ ทำหน้าที่ประสานงานทั้ง 10 สังฆมณฑล

ทางด้านโครงการ จะเป็นโครงการให้การศึกษาอบรมความรู้เรื่อง “ชีวิตรอบครัว” เป็นหลัก โดยแบ่งการอบรมออกเป็น 4 ขั้นตอนด้วยกัน ในแต่ละขั้นตอนจะมีหลักสูตรการฝึกอบรมด้วย จุดประสงค์ของการอบรมคือ “เน้นให้ผู้เข้ารับการอบรมได้มีจิตสำนึกที่    จะนำไปปฏิบัติและเผยแพร่บุคคลอื่นต่อไป” ผู้บรรยายหรือวิทยากรจะเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขารับเชิญ

“โดยในระยะที่ 1 เป็นการเผยแพร่แนวความคิด เป็นการอบรมเพื่อเผยแพร่แนวความคิดและหลักปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตครอบครัว

ระยะที่ 2 คุณสมบัติผู้ประสานงาน เป็นขั้นการคัดเลือกผู้เข้ารับการอบรมระยะที่ 1 ซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสม   ที่จะเป็นผู้นำและรับใช้ชุมชนในด้านงานพัฒนาให้เข้าไปรับการอบรมต่อในระยะที่ 3

ระยะที่ 3 การอบรมผู้ประสานงาน เพื่อพัฒนาขีดความสามารถให้กับผู้ที่ได้ผ่านการคัดเลือกมาแล้วให้สามารถเป็นผู้ประสานงานส่งเสริมชีวิตครอบครัวในชุมชน           ที่ตนอาศัยอยู่ได้ระยะที่ 4 การพัฒนาครูอบรม มุ่งหวังที่จะให้ผู้ผ่านการอบรมระยะนี้   เป็นครูฝึกอบรมและเป็นทีมงานส่งเสริมชีวิตครอบครัวประจำสังฆมณฑล”

การอบรมทั้ง 4 ระยะนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องสถาบันครอบครัวที่ถูกต้อง การคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติ โดยสามีภรรยามีส่วนรับผิดชอบ  ร่วมกัน  โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา หรือเครื่องมือทางเคมีเข้าช่วยหรือตกเป็นภาระของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ในขณะเดียวกันเป็นการเผยแพร่ความรู้แก่ชาวบ้านโดยผ่านผู้เข้าอบรม     และในการอบรมระยะที่ 4 เป็นการเพิ่มบุคลากรปฏิบัติงานของพระศาสนจักรซึ่งมักประสบปัญหาด้านนี้อยู่เสมอ

ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบันกิจกรรมด้านโครงการส่วนใหญ่ของ “คณะกรรมการส่งเสริมชีวิตครอบครัว” เป็นการให้การศึกษาอบรม ปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับชีวิตครอบครัว และการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ “การคุมกำเนิดด้วยวิธีตามธรรมชาติ” ให้แก่สามีภรรยา และผู้เตรียมตัวแต่งงาน อย่างไรก็ตามไม่ควรมองว่า “คณะกรรมการส่งเสริมชีวิตครอบครัว” มุ่งส่งเสริมการคุมกำเนิดด้วยวิธีดังกล่าวเพียงอย่างเดียว ความจริงเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการมุ่งการมุ่งพัฒนาชีวิตครอบครัวให้ดีขึ้นในหลายๆ โครงการเท่านั้น    ในขณะเดียวกันยังมุ่งการให้การศึกษาอบรมแก่กลุ่มเยาวชน หนุ่มสาว เพื่อเป็นการ
เตรียมชีวิตครอบครัวในอนาคตอีกด้วย อุปสรรคในการดำเนินการส่วนใหญ่คือ การขาดแคลนเงินทุน และบุคลากร และกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ยังคงจำกัดอยู่ในแวดวงคาทอลิกโดยมีโบสถ์ และชุมชนคาทอลิกเป็นกลุ่มหลักในการทำงาน

ในปัจจุบันงานของคณะกรรมการส่งเสริมชีวิตครอบครัวเน้นอยู่สามด้าน      ด้วยกัน คือ

  1. งานด้านอภิบาลครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานด้านการอบรม และการเผยแพร่ ข่าวสาร ข้อมูลแก่บุคคลทั่วไป พระสงฆ์ นักบวช เป็นต้น
  2. งานวางแผนครอบครัวตามธรรมชาติ
  3. งานพัฒนาครอบครัว เป็นโครงการที่เน้นทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจาก ความต้องการของชาวบ้าน หรือกลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวกัน โดยทางสำนักเลขาธิการ และศูนย์ส่งเสริมชีวิตครอบครัวของสังฆมณฑลจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่จะ
    ประสานงานกับหน่วยงานหรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นๆ ที่มีอยู่ใน/          นอกท้องถิ่น ในแง่ของบุคลากร วิชาการตลอดจนงบประมาณสำหรับโครงการนั้นๆ

แนวทางในอนาคตของคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการส่งเสริมชีวิตครอบครัว    อาจดูได้จากลักษณะโครงการโดยแบ่งออกเป็น 3 โครงการหลัก ซึ่งมีความสัมพันธ์       ต่อกันและกัน คือ

  1. โครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคม
  2. โครงการคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติ (Natural Family Planning) (NFP)
  3. โครงการอบรมศึกษา และการสร้างกลุ่มครอบครัวชุมชน”

โครงการทั้ง 3 ดูเหมือนว่ายังไม่มีอะไรใหม่นักเมื่อเปรียบเทียบกับลักษณะโครงการ        ที่ผ่านมา แต่สิ่งที่คณะกรรมการส่งเสริมชีวิตครอบครัวได้พัฒนาขึ้นคือแนวความคิด     การพัฒนา จะเห็นได้จาก “แผนสร้างกลุ่มครอบครัวชุมชน (งานอภิบาลครอบครัว)     พ.ศ. 2529 -2535 ที่ชี้ให้เราเห็นว่า คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการส่งเสริมชีวิตครอบครัว ได้ทำการประเมินตัวเอง และวิเคราะห์งานของตนเองในอดีตว่าประสบความสำเร็จ และล้มเหลวอย่างไร อีกทั้งเป็นการชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มในอนาคตในการทำงานของคณะกรรมการฯ สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดคือคณะกรรมการฯ ได้ให้ความสำคัญในงานพัฒนา
มากขึ้นควบคู่ไปกับงานหลักด้านอื่นๆ ซึ่งในอดีต “เน้นหนักไปทางงานเกี่ยวกับการคุมกำเนิด” เป็นงานหลักจนบางครั้งดูเหมือนว่าคณะกรรมการฯ ดังกล่าวมีหน้าที่ สนับสนุนให้มีการคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาตินี้โดยตรง แนวทางใหม่ของคณะ
กรรมการฯ คือ ปลุกจิตสำนึกและฟื้นฟูลักษณะครอบครัวไทย เพื่อให้พัฒนาตัวเองอย่างครบวงจร คือความสัมพันธ์ระหว่าง พ่อ แม่ ลูก และครอบคลุมทั้งทางด้านจิตใจ เศรษฐกิจและสังคม มีการช่วยเหลือกันในระหว่างครอบครัวมากขึ้น มุ่งพัฒนาถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือการพัฒนาสถาบันครอบครัวไทย ซึ่งเป็นแหล่งเก็บรักษาวัฒนธรรม และคุณค่าที่ดีในสังคม ดังนั้น “กลุ่มครอบครัวของชาวบ้านจะต้องเป็นตัวหลักในการวางแผน ดำเนินงานและรับผลประโยชน์จากพัฒนาของเขาเองจนสามารถพึ่งตัวเองได้ในระยะยาว”